วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การเล่นเพลงและการแสดงพื้นบ้านไทย

เพลง และการแสดงพื้นบ้านไทย

           การแสดงพื้นบ้านที่ถือกำเนิดมาจากการเล่นสนุกสนานของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นนิยมเล่นกันโดยมีจุดประสงค์เพื่อความสนุกสนานผ่อนคลายจากการประกอบอาชีพ หรือเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรมของท้องถิ่น จะนิยมนำมาเล่นกันเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน สามัคคีกันในหมู่คณะ หรือท้องถิ่น การเล่นประเภทนี้แม้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนาน ยังมีการแทรกแนวคิด การขัดเกลา ปลูกฝังสิ่งต่าง ๆ ไว้ในการเล่นให้ชาวบ้านได้รับสาระจากการชม ซึ่งเป็นวิธีการปลูกฝังแบบแผนความเชื่อ ประเพณี ขัดเกลาคุณธรรมจริยธรรมในแง่ความเชื่อทางศาสนาให้แก่ผู้ชมผู้ฟังที่เป็นคนในท้องถิ่น โดยผ่านการละเล่นเหล่านี้
                การแสดงพื้นบ้านเหล่านี้อาจมีรูปแบบการแสดงออกทั้งที่เป็นการเล่นเพลงซึ่งเรียกว่า เพลงพื้นบ้าน และรูปแบบการเล่นที่นิยมเรียกว่า การละเล่น ตลอดในรูปแบบการแสดงที่ใช้คำนำหน้าการแสดงว่า รำ ระบำ ฟ้อน เซิ้ง ตารี    

 เพลงพื้นบ้าน
                หมายถึง เพลงของชาวบ้าน มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นแตกต่างกันออกไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูด เพลงประเภทนี้สืบทอดโดยวิธีมุขปาฐะ  มีลักษณะเด่น คือ ความสนุกสนาน เรียบง่ายในถ้อยคำ จังหวะ การร้อง และการแสดงออก นิยมนำมาร้องเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน สงกรานต์ หรืองานที่มีการชุมนุมผู้คนในหมู่บ้าน และการลงแขกงานอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น

สุจริต บัวพิมพ์  แบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านออกเป็น ๘ ประเภท คือ
                ๑. เพลงที่ใช้กล่อมเด็ก ใช้ร้องกล่อมให้เด็กนอน จึงมีทำนองช้า โดยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นบทสั้น ๆ เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของผู้ขับกล่อม บางครั้งแฝงคติ คำสอน อาจมีเนื้อหาเรื่องราวที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน หรือไม่ต่อเนื่องกันก็ได้ ท่วงทำนอง และสำเนียงสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น




เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ ชือ "เพลงอือ....จา จา"
โดย แม่ครูจันทร์สม สายธารา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)


เพลงกล่อมลูกภาคกลาง "นกกาเหว่า" 
โดย อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์ไทย)


เพลงกล่อมลูกภาคใต้ เรียก"เพลงฮา..เหอ" "เพลงชาน้อง"   
"เพลงร้องเรือ" โดย


"เพลงนอนสาหล่า" ภาคอีสาน โดย หมอลำวันดี พลทองสถิตย์

                ๒. เพลงร้องปลอบเด็ก  ใช้ร้องปลอบเด็กเวลาเด็กร้องไห้ ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กเล็ก บทร้องมีลักษณะล่อให้เด็กสนใจท่าทางน้ำเสียงของผู้ร้องและความหมายของบทเพลงทำให้เด็กลืมความเสียใจหยุดร้องไห้ และทำให้มีอารมณ์สนุกสนาน
                ๓. เพลงที่เด็กใช้ร้องเล่น  เป็นบทร้องที่นำมาร้องเล่นสนุกสนาน มักมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งแฝงไว้ เช่น ฝึกการจำ เป็นกำลังใจ หรือใช้ร้องประกอบในขณะที่เด็กเล่นด้วยกัน
                ๔. เพลงที่เด็กใช้ร้องประกอบการละเล่น เป็นเพลงที่เด็กใช้ร้องประกอบการเล่น เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน บทร้องมีเนื้อหาง่ายต่อการจำ เช่น แม่งู มอญซ่อนผ้า  รีรีข้าวสาร ฯลฯ




เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก "รีรีข้าวสาร"

                ๕. เพลงปฏิพากย์ หรือเพลงเกี้ยวพาราสี เพลงร้องโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว อาจมีรูปแบบการร้องที่เหมือน หรือคล้ายคลึงกันในแต่ละภาค   นิยมแบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย  แล้วด้นกลอนเพลงโต้ตอบกัน เพื่อแสดงปฏิภาณไหวพริบในการร้อง การด้นกลอน และการใช้คำร้อง   นิยมเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ เมื่อเล่นจบเพลงก็มีบทจาก 


                ๖. เพลงร้องรำพัน บทเพลงมีเนื้อหาพรรณนาความ ต่าง ๆ เช่นพรรณนาชึวิตที่ลำบากของผู้ร้อง เล่านิทาน นิยมนำเอาทำนองเพลงต่างๆ มาร้อง เช่นเพลงขอทาน เพลงขับเกวียน เพลงพานฟาง เพลงคล้องช้าง เพลงชักกระดาน ฯลฯ




เพลงร้องรำพันตัวอย่างที่ ๑ ตัวอย่างการแหล่ 
ตัวอย่างที่ ๒ ทำนองเพลงขอทาน

                ๗. เพลงใช้ประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่  เป็นเพลงร้องประกอบการละเล่นของหนุ่มสาว อาจมีลักษณะเป็นเพลงร้องโต้ตอบ แต่มีการละเล่นเข้าร่วมด้วย เช่น เพลงเหย่อย รำโทน รำวง แม่ศรี ฯลฯ




การแสดงรำโทน 
ของนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี

                ๘. เพลงประกอบพิธีกรรม เป็นเพลงที่ใช้ร้องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้าน เช่น งานบวชนาค งานผูกข้อมือรับขวัญ งานโกนจุก ฯลฯ ใช้ทำนอง แหล่(ภาคกลาง)  คำตักหรือเพลงตัก(ภาคใต้) ลำผีฟ้า(ภาคอีสาน)  อื่อ จ๊อย(ภาคเหนือ)  ฯลฯ

 คำที่ควรรู้ และเข้าใจ ในการเล่นเพลงพื้นบ้าน
                เป็นคำต่าง ๆ ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการร้อง การเล่น ตลอดจนผู้เล่นเพลง พฤติกรรมของผู้เล่นเพลง เนื้อหาบทเพลง ฯลฯ หากเข้าใจความหมายของคเหล่านี้จะทำให้เข้าใจในรูปแบบการเล่นเพลงได้ดีมากขึ้น ในการเรียนรู้เกี่ยวกับคำเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจจึงแบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้

                ๑. คำที่เกี่ยวข้องกับลักษณะบทเพลง หรือบทร้อง โดยส่วนใหญ่มักจะพบเห็นหรือผู้ร้องนิยมนำมาร้องประกอบการเล่นเพลงปฏิพากย์เพื่อให้มีขั้นตอนและสนุกสนาน ได้แก่
            บทไหว้ครู เพลงปฏิพากย์จะร้องเป็นบทแรก จะกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณ เช่น พระพุทธ เทพเจ้า  ครูบาอาจารย์ เทวดาประจำถิ่น สถานที่สำคัญ บิดา มารดา ครูเพลง ฯลฯ โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้ร้องก่อน เมื่อร้องจบก็จะให้ฝ่ายหญิงร้อง
            บทเกริ่น เป็นบทร้องเชิญโดยฝ่ายชายจะร้องเชิญให้ฝ่ายหญิงออกมาเล่นเพลง รวมทั้งเป็นการแนะนำตนเองต่อฝ่ายตรงกันข้าม บางครั้งเรียกว่า เพลงละหน้าโรง หรือฉะหน้าโรง โดยฝ่ายชายเป็นฝ่ายออกมาร้องก่อน ฝ่ายหญิงจึงจะออกมาร้องตอบ
            บทประ หรือบททักทาย เป็นบทร้องที่ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงร้องเพลงโต้ตอบกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้ และเป็นการแสดงฝีปากเพื่อร้องด้นกลอนโต้ตอบกัน เช่น ทักทายชายเพื่อต้องการให้ฝ่ายชายตอบข้อซักถามที่ต้องการรู้ เกี่ยวกับศาสนา ปัญหาธรรม ประวัติเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
            บทรัก เป็นบทที่ใช้ร้องเกี้ยวพาราสีกัน ฝ่ายชายจะร้องเกี้ยวฝ่ายหญิงให้รับรัก
            บทสู่ขอ ฝ่ายหญิงจะร้องตอบเพื่อให้ฝ่ายชายมาสู่ขอจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง
            บทลักหาพาหนี เมื่อฝ่ายชายมีปัญหา เช่น ยากจน ก็จะร้องชวนให้ฝ่ายหญิงหนีตาม หากมีการดำเนินเรื่องว่าฝ่ายหญิงตกลง ก็จะมีการร้องลาเรือน เป็นบทอาลัยบ้านเรือน ขณะเดินทางก็จะมีบทชมธรรมชาติ แทรก เป็นต้น
            บทชิงชู้ บทร้องโต้ตอบกันระหว่างชายสอง หญิงหนึ่ง เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ด้วยกันมานาน และฝ่ายหญิงนอกใจหรือไปมีคนรักใหม่ ฝ่ายชายก็จะตามหา
            บทตีหมากผัว เป็นบทร้องระหว่างชายหนึ่ง หญิงสอง ที่แย่งชิงผู้ชายคนเดียวกัน เช่น เรื่องราวระหว่างเมียน้อย กับเมียหลวง เป็นต้น
            บทจาก เป็นบทร้องลา ให้พรเมื่อจบการแสดง จะเป็นการร้องลาฝ่ายตรงกันข้าม และร้องลาผู้ชม มีการร้องอวยชัยให้พรแก่ผู้ชม ก่อนจบการแสดง
            กลอนแดง เป็นภาษาชาวเพลงภาคกลาง หมายถึงกลอนที่มีคำกล่าวถึงอวัยวะเพศ และพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมาไม่มีการเลี่ยง คำเหล่านี้ตามปกติสังคมถือว่าเป็นคำหยาบคายไม่ใช้พูดโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน
            กลอนตับ หมายถึงกลอนชุดต่างๆ ที่ผูกเป็นเรื่องในการร้องเพลงของเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เช่น ตับชิงชู้ หมายถึงกลอนชุดที่ผูกเป็นเรื่องชายสองคน แย่งหญิงหนึ่งคน กลอนตับมีต่างกันไป เช่น ตับเมรี ตับแต่งตัว และตับตีหมากผัว เป็นต้น
            กลอนรี หรือ กลอนรวย หรือ การหักข้อรอ หมายถึงบทกลอนที่ผู้ร้องนิยมลงท้ายคำร้องให้มีความหมายลักษณะสองนัย โดยให้มีเสียงสระอี และ อัว  เพื่อเลี่ยงการกล่าวถึงอวัยวะเพศของฝ่ายตรงกันข้ามตรง ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์ให้ผู้ฟังคิดเอาเอง

            ๒. คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เล่นเพลง หรือผู้ร้อง ซึ่งแต่ละภาคจะนิยมเรียกตามวัฒนธรรมการใช้ภาษาในแต่ละภาค ได้แก่
            ภาคกลาง  เรียกผู้ที่ทำหน้าที่ร้องนำทางฝ่ายชายว่า พ่อเพลงเรียกผู้ร้องที่ทำหน้าที่ร้องนำฝ่ายหญิงว่า แม่เพลงผู้ร้องคนแรกที่ร้องต่อพ่อเพลงแม่เพลงว่า คอต้นเรียกคนที่ร้องถัดไปว่า คอสอง “คอสามตามลำดับ
            ภาคอีสาน ในการเล่นเพลงโคราชของชาวโคราช เรียกผู้ที่ประกอบอาชีพในการเล่นเพลงทั้งชาย หญิง ว่า หมอเพลงสำหรับทางภาคอีสานตอนเหนือจะเรียกผู้ร้องทั้งชาย หญิง ว่า หมอลำ
            ภาคเหนือ เรียกผู้ร้องหรือเล่นเพลงทั้งหญิง และชาย ว่า ช่างซอหากช่างซอมีช่างซอหลายคน หรือร้องคู่กันเรียกว่า คู่ถ้อง
            ภาคใต้ เรียกผู้ร้องว่า แม่คู่หรือ แม่เพลงทั้งชาย และหญิง เรียกผู้ร้องเสริม ว่า ท้ายไฟ
            สำหรับคำว่า ลูกคู่ หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ ตามแต่ลักษณะของเพลงเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และมีหน้าที่ให้จังหวะผู้ร้องโดยการปรบมือ ตีกรับ ตีฉิ่ง  จะพบเห็นผู้ร้องที่ทำหน้าที่ร้องรับเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง และภาคใต้เท่านั้น ภาคเหนือ และภาคอีสานไม่นิยมให้มีการร้องรับเป็นลูกคู่ ยกเว้นการเล่นเพลงโคราช

                ๓. เกี่ยวข้องกับครูผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดการเล่นเพลงพื้นบ้าน ได้แก่
            ครูเพลง หรือ พ่อครู แม่ครู ธรรมเนียมไทยยกย่องครูว่าเป็นผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะครูในด้านการแสดง จะต้องมีการไหว้รำลึกพระคุณครูก่อนเล่นเพลงพื้นบ้านทุกครั้ง ครูเพลงจะมี ๒ ประเภท คือ
                        . ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ อาจเป็นเทพ หรือ ผี ที่ศิลปินนับถือ และเชื่อว่าสามารถดลบันดาลให้ การแสดงของตนประสบผลสำเร็จ หรือล้มเหลวได้ ครูเพลงประเภทนี้พบในเพลงพื้นบ้านที่เป็นเพลงอาชีพ เช่น เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่องของภาคกลาง พ่อเพลง แม่เพลง จะไหว้ หัวพ่อแก่ หรือ ฤษีในพิธีไหว้ครูซอ ช่างซอล้านนาก็มีการนับถือผีครูซอค่อนข้างเคร่งครัด มีการเซ่นไหว้บวงสรวงเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งในพิธีแบ่งครูซอ
                        . ครูที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถในการร้องเพลงพื้นบ้าน อาจเป็นผู้ร้องรุ่นเก่า ที่รู้จักชื่อ หรือเป็นผู้ที่มีคนฝากตัวเป็นศิษย์ให้ช่วยฝึกสอน ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทต่อศิษย์มาก

            ๔. เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ และการแสดงออกการเล่นเพลง ได้แก่
             ครูพักลักจำ คือครูที่ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านไม่ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ให้สอนเพลงโดยตรง แต่แอบฟัง หรือได้ยินกลอนที่ครูร้อง หรือผู้เล่นเพลงพื้นบ้านอาชีพร้อง แล้วจดจำกลอนเขามาร้องต่อ
            มุตโต สารานุกรมเพลงพื้นบ้านภาคกลางของ เอนก นาวิกมูล อธิบายความหมายคำนี้ว่า การถึงแล้วซึ่งความรู้ คือ รู้แจ้ง นอกจากกลอนที่ครูมอบให้แล้ว พ่อเพลง แม่เพลงที่ชำนาญจะสามารถประดิษฐ์กลอนด้วยตนเอง มีปฏิภาณไหวพริบ เรียกว่า มุตโตแตกตรงกับคำว่า แตกลำในภาษาอีสานชาวหมอลำ

                 การเล่นเพลงพื้นบ้านนิยมเล่นกันในทุกภาค แต่ละภาคจะแสดงความเป็นเอกลักษณ์ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นภาษาสำเนียงการร้อง ท่วงทำนองบทเพลงและดนตรี การแต่งกาย ตลอดจนเนื้อหาการร้อง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ภาคเหนือ
                ที่รู้จักและได้รับความนิยมมากที่สุด คือ "ซอ"   ซอ หมายถึงการขับร้องเพลงปฏิพากย์ คณะซอ ประกอบด้วย ช่างซอซึ่งเป็นชาย หญิง ร้องโต้ตอบกัน เรียกว่าเป็น คู่ถ้องมีดนตรีบรรเลงคลอประกอบขณะซอ เรียกว่า ช่างปี่มีการปลูกโรงสำหรับแสดงเรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า ผาม”  ที่ยกพื้นสูงระดับสายตาคนดูประมาณเมตรเศษ มีช่างซอ และช่างปี่ขึ้นไปนั่งประจำอยู่บนเวที ช่างซอทั้งหญิงและชายนิยมแต่งกายแบบพื้นบ้านล้านนา


            ทำนองซอที่ได้รับความนิยม และแพร่หลายมีหลายทำนอง แต่ละทำนองไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ได้แก่ ทำนองขึ้นเชียงใหม่ ขึ้นเชียงแสน จะปุ ละม้าย พม่า เงี้ยว ล่องน่าน เพลงอื่อ ปั่นฝ้าย  เป็นต้น
                การแสดงซอ มักจะสัมพันธ์กับโอกาสของงานที่ไปแสดง มักเป็นงานในพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ซอจึงมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่ง หรือขั้นตอนหนึ่งในพิธีกรรมโดยตรง เช่นการซอเรียกขวัญลูกแก้ว การซอในพิธีไหว้ครูซอ งานขึ้นบ้านใหม่ และพิธีเข้าทรง เป็นต้น นอกจากพิธีกรรมแล้ว ซอในบางโอกาสก็เป็นส่วนประกอบทีทำหน้าที่เป็นมหรสพให้ความบันเทิงแก่แขกผู้มาในงาน  การซอของภาคเหนือหากมีการแสดงเป็นเรื่องราวจะเรียกว่า "ละครซอ"




เพลงซอ ภาคเหนือ 
มีช่างซอสองคน เรียกว่า "คู่ถ้อง"


ละครซอ

ภาคกลาง

            เพลงพื้นบ้านภาคกลางที่เป็นที่รู้จัก และนิยมแพร่หลายมาก ได้แก่ ลำตัด เพลงอีแซว เพลงฉ่อย และเพลงเรือ เพลงพวงมาลัย เป็นต้น เพลงพื้นบ้านภาคกลางอาจกล่าวได้ว่า มีจำนวนมากที่สุด ในบรรดาเพลงพื้นบ้านทั้ง ๔ ภาค จากการสำรวจ และรวบรวมโดย อเนก นาวิกมูล (๒๕๒๘) พบว่าเพลงพื้นบ้านภาคกลางมีอยู่มากมายกว่า ๔๐ ชนิด ในที่นี้ขอยกตัวอย่างลำตัด และเพลงฉ่อย




การเล่นลำตัดที่นำเอา
ทำนองเพลงอีแซวมาร้องด้วย


           
การร้องลำตัดของคณะหวังเต๊ะ

            ลำตัด วิวัฒนาการมาจาก ดิเกร์ของมลายู ดิเกร์ เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิม ดิเกร์แสดงเป็นเรื่องราว ต่อมากลายมาเป็น ลิเกในปัจจุบัน อีกพวกหนึ่งกลายมาเป็น ลำตัดมีลักษณะเล่นเป็นบทเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มีการร้องที่เรียกว่า บันตนซึ่งหมายถึงการร้องแก้กันด้วยการด้นกลอนสด มีท่วงทำนองที่เป็นภาษาเดิมเรียกว่า ละกูประกอบไปด้วย

             บทร้อง หรือเนื้อหา เดิมเนื้อหาที่ใช้ในการร้องลำตัด เป็นการขุดคุ้ยเอาความไม่ดีต่าง ๆ ของกันและกันมาประจาน แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องเกี้ยวพาราสีสองแง่สองง่าม และเหตุการณ์ปัจจุบันต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ตลอดจนคดีโลก คดีธรรมต่าง ๆ

            การแสดงลำตัดประกอบด้วยผู้แสดงฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย อย่างน้อยฝ่ายละ ๒ คน นักดนตรีทำหน้าที่ตีรำมะนา และเครื่องกำกับจังหวะอื่น ๆ อย่างน้อย ๓ คน นักดนตรีเหล่านี้นอกจากเล่นดนตรีแล้วยังทำหน้าที่ร้องรับเป็นลูกคู่ด้วย
             วิธีการแสดง เดิมการแสดงลำตัดจะนั่งแสดงล้อมกันเป็นวง ต่อมาเวลาร้องจะครึ่งยืน ครึ่งนั่งที่เรียกกันว่า ครึ่งท่อนคือ ยืนไม่เต็มตัว ปัจจุบันยืนร้อง โดยผลัดกันว่าโต้ตอบฝ่ายละ ยืนซึ่งหมายถึงช่วงเวลาหนึ่งประมาณ ๓๐ นาที (คล้ายกับคำว่า ยก ในการชกมวย)


การเล่นเพลงฉ่อย เป็นช่วงบทเกริ่น ของฝ่ายชาย

            เพลงฉ่อย นิยมเล่นกันมากในแถบจังหวัดภาคกลาง บทเพลงมีเนื้อหาเกี้ยวพาราสีกันเช่นเดียวกับลำตัด ความสนุกสนานของบทเพลงอยู่ที่การด้นกลอนแก้คำกันระหว่างผู้ร้องสองฝ่ายที่เรียกว่า “ประ” หรือ “ฉะ” การให้จังหวะประกอบการร้องใช้การปรบมือให้จังหวะ มีเสียงลูกคู่ร้องรับเมื่อผู้ร้องนำร้องจบแต่ละวรรค เพลงฉ่อยนอกจากนิยมนำมาร้องด้นกลอนโต้ตอบกันยังนิยมให้มีการเล่นเพลงฉ่อยเป็นเรื่องราวโดยให้ผู้ร้องรับบทบาทเป็นตัวละครแต่งกายแบบลิเก แต่ใช้วิธีการร้องกลอนโต้ตอบแบบทำนองเพลงฉ่อย เรียกการเล่นเพลงฉ่อยอย่างนี้ว่า การเล่นเพลงทรงเครื่อง

เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
            เพลงพื้นบ้านอีสานตอนเหนือได้แก่ หมอลำ ส่วนเพลงพื้นบ้านอีสานตอนใต้ได้แก่ เพลงโคราช กันเจรียง และกันตรึม
            ภาคอีสานตอนเหนือ หรืออีสานตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย เลย อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร ฯลฯ ชาวอีสานเหล่านี้ มีเพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันเป็นประจำในงานรื่นเริงทั่ว ๆ ไป คือ หมอลำ คำว่า หมอหมายถึงผู้ชำนาญในการใช้สิ่งต่าง ๆ ส่วนคำว่า ลำหมายถึงการร้อง หรือเพลง รวมความว่า ผู้เชี่ยวชาญในการร้องเพลงหมอลำมีหลายประเภท ได้แก่



ความรู้เกี่ยวกับหมอลำ


การร้องหมอลำ

๑. หมอลำพื้น หมายถึงหมอลำผู้ชาย ที่ลำ เกี่ยวกับเรื่องนิทานต่าง ๆ
๒. หมอลำกลอน หมายถึง หมอลำผู้หญิง และ ผู้ชาย
    ที่ลำโต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสี และคดีโลก คดีธรรมต่าง ๆคล้ายลำตัดภาคกลาง
๓. หมอลำหมู่ หมายถึงหมอลำที่ประกอบด้วย ผู้แสดงทั้งหญิง และชาย เล่นเป็นกลุ่ม อย่างน้อย ๑๕๒๐ คน ลำเป็นเรื่องราวต่าง ๆ จากนิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน และเหตุการณ์สำคัญ หรือเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มีลักษณะคล้ายลิเก ของภาคกลาง
       . หมอลำเพลิน หมายถึงหมอลำที่ประกอบด้วยผู้แสดง ทั้งหญิง และชาย ประมาณ ๑๕-๒๐ คนเป็นอย่างน้อย เนื้อหาที่ ลำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน หรือนิทานพื้นบ้าน แต่มีการประยุกต์ใช้ดนตรีสากลบรรเลงประกอบการแสดงด้วยจังหวะลีลารุกเร้า สนุกสนาน มีลักษณะคล้ายหมอลำเรื่อง ผสมกับเพลงลูกทุ่ง เพราะก่อนแสดงจะมีสตรีสาว ๆ ออกมาเต้นโชว์หน้าเวที ด้วยเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานเช่นเดียวกับหางเครื่องเพลงลูกทุ่ง หมอลำเพลินนี้บางท่านเรียกว่า หมอลำกกขาขาวหมายถึงสตรีสาวที่ออกมาเต้นโชว์นั่นเอง เพราะพวกเธอเหล่านี้ จะแต่งกายด้วยกระโปรง หรือผ้าซิ่นสั้น ๆ สูงเหนือเข่า ทำให้มองเห็นต้นขาขาว ๆ จึงเรียกกันว่า หมอลำกกขาขาว
        . หมอลำผีฟ้า หมายถึงหมอลำที่ลำ เพื่อรักษาคนป่วย หรือลำในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบ้าน เช่น ไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น
            ส่วนชาวอีสานตอนใต้ ที่นิยมเล่น เพลงโคราช คือชาวบ้านในจังหวัดนครราชสีมา สำหรับ  เจรียง กันตรึม นิยมกันในจังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ 




การร้องเพลงโคราช
 นิยมกันในจังหวัดนครราชสีมา


เจรียง เป็นการร้องหมอลำแต่ใช้ภาษาเขมร นิยมกันในแถบ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ



วงดนตรีพื้นบ้านกันตรึมของอีสานใต้


เพลงพื้นบ้านภาคใต้
      
              การเล่นเพลงพื้นบ้านภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เพลงบอก และลิเกฮูลู





เพลงบอก ภาคใต้

เพลงบอก เป็นการเล่นเพลงที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และสงขลา เป็นการบอกกล่าวเรื่องวันขึ้นปีใหม่ (ตามประเพณีของไทย) หรือเป็นการเล่าเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่น เชิญชวนไปทำบุญ เป็นต้น เนื่องจากคนในสมัยก่อนอ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านออกเขียนได้มีจำนวนน้อย จึงใช้การเล่นเพลงเป็นการสื่อสารแทน เพลงบอกคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้แสดงประมาณ ๓-๕ คน มีแม่เพลง หนึ่งคน หากมีมากกว่าหนึ่งคนเรียกว่า "แม่คู่" มีลูกคู่ทำหน้าที่ร้องรับและตีฉิ่งประกอบจังหวะเรียกว่า"ท้ายไฟ"  (แม่เพลงสำหรับเพลงพื้นบ้านภาคใต้ส่วนมากเป็นผู้ชาย)
วิธีการแสดง เริ่มด้วยบทร้องไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นกล่าวชมเจ้าของงาน บอกข่าวเรื่องความเป็นมาของเทศกาลสงกรานต์ว่า นางสงกรานต์ปีนี้เป็นใคร ชื่ออะไร ฯลฯ หรือ กล่าวชมสิ่งต่าง ๆที่ได้พบเห็นมา บางที่มีการถาม ตอบกับเจ้าของบ้าน จบด้วยการอวยพร และการลาเจ้าของบ้าน
เวทีประกอบการแสดง เดิมเพลงบอกใช้วิธีเดินตระเวนไปตามบ้านต่าง ๆ ตั้งแต่หัวค่ำ ถึงรุ่งเช้า ปัจจุบันนิยมแสดงบนเวที  เดิมเพลงบอกนิยมเล่นเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ปัจจุบันไม่จำกัด จึงใช้แสดงในงานนักขัตฤกษ์ ทั่วไป




การเล่นลิเกฮูลู ภาคใต้ จากรายการคุณพระช่วย

ลิเกฮูลู มาจากคำว่า “ดิเกร์” หรือ “ลิเก” หมายถึงการร้อง และ คำว่า “ฮูลู” หมายถึงทางใต้เป็นการเล่นเพลงที่นิยมในแถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยมุสลิม โดยนิยมแสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัต งานเมาลิด งานฮารีรายอ ฯลฯ มีวิธีการแสดงคล้ายการเล่นลำตัด หรือเพลงฉ่อยภาคกลาง คือในหนึ่งคณะจะมีแม่เพลง ร้องนำ และมีท้ายไฟ หรือลูกคู่ร้องรับ และแสดงท่าทางประกอบเป็นหางเครื่องตามท่วงทำนองดนตรีและจังหวะ ทำนองเพลงมีความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน และมีท่วงทำนองที่ไพเราะสนุกสนาน ดนตรีประกอบด้วยเครื่องประกอบจังหวะเป็นส่วนใหญ่ เช่น กลอง โหม่ง กรับ ฉิ่ง และมารากัส (ลูกแซก) ภาษาที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน หรือเล่าเรื่องราวนิยมใช้ภาษามลายู (ยาวีท้องถิ่น) และภาษาท้องถิ่นภาคใต้

ลักษณะสำคัญของเพลงพื้นบ้าน
                แม้ว่าเพลงพื้นบ้านเป็นการละเล่นที่มีรูปแบบเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น จากการศึกษาพบว่าเพลงพื้นบ้านไทยทุกท้องถิ่นทุกภาคมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
                ๑. เป็นเพลงที่มีทำนองง่าย ๆ ไม่มีระเบียบแบบแผนซับซ้อนยุ่งยากในการร้อง จึงง่ายต่อการจดจำและการเรียนรู้
            ๒. ถ้อยคำภาษาที่ใช้เป็นคำไทยแท้เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และแสดงให้เห็นถึงสำเนียงท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่น มีความหมายเข้าใจง่ายไม่ต้องแปลความซับซ้อน
                ๓. บทร้องไม่มีการจดบันทึก นิยมใช้โดยวิธีการจำสืบต่อกันมา เมื่อมีการสืบทอดจึงใช้วิธีบอกเล่า สาธิต ด้วยปากเปล่า ไม่มีหลักฐานการสอนที่ครูผู้สอนใช้ประกอบการสอนชัดเจน จึงเรียกวิธีการสอนแบบนี้ว่า “มุขปาฐะ”
                อย่างไรก็ตามเพลงพื้นบ้านถือได้ว่าเป็นสิ่งบันเทิงใจที่อยู่ใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุด เป็นกิจกรรมอันดับแรกที่ชาวบ้านได้รับความบันเทิง เนื้อเพลงส่วนใหญ่นอกจากพูดถึงความรักระหว่างหนุ่มสาว ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ วิถีการใช้ชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ขนบประเพณี ของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างชัดเจน

การแสดงพื้นบ้าน

                เป็นศิลปะการแสดงที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่เกิดจากแนวคิดการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ค่านิยม ของท้องถิ่นนั้นๆ ศิลปะพื้นบ้านประเภทนี้อาจมีการเรียกแตกต่างกันไป เช่น การละเล่นพื้นบ้าน        การแสดงพื้นบ้าน การแสดงพื้นเมือง การแสดงสี่ภาค ซึ่งในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายคำว่า การละเล่นไว้ว่า “การละเล่นเป็นคำนาม หมายถึงมหรสพต่าง ๆ การแสดงต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง” ดังนั้น การละเล่นพื้นบ้านจึงมีความหมายครอบคลุมไปถึง การแสดง การร้อง การรำ รวมทั้งการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพื้นบ้าน เช่น การเล่นกีฬาพื้นบ้าน การละเล่นเด็กไทย เป็นต้น
            การละเล่นพื้นบ้าน หรือการแสดงพื้นบ้านส่วนมาก ไม่ทราบที่มา หรือกำเนิดที่แน่ชัดเช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้าน จึงสืบทอดโดยวิธีมุขปาฐะ โดยการบอกเล่าด้วยปากต่อปาก ระหว่างบุคคลในหมู่บ้าน ท้องถิ่น หรือชุมชน โดยไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้าน รวมทั้งยังนิยมแสดงออกในช่วงงานเทศกาลนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ หรือช่วงที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันเพื่อประกอบกิจกรรมในชุมชนร่วมกัน เช่นเดียวกัน  ในขณะที่การละเล่นของเด็กไทยก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่น หรือการแสดงพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นการเล่นร่วมกันของเด็กและมีรูปแบบการแสดงออกที่สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะไว้ จึงจัดให้การละเล่นเด็กไทยเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพื้นบ้านด้วย

ลักษณะสำคัญของการแสดงพื้นบ้าน
                การแสดงพื้นบ้าน หรือการละเล่นพื้นบ้านไทย เป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมพื้นบ้านสาขาต่าง ๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม การขับร้อง ในการนำเสนอโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง มีการแทรกคติแนวคิดคำสอนไว้ เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้าน จึงมีความเรียบง่ายในการแสดงออก การนำเสนอ ขณะเดียวกันการละเล่นพื้นบ้านบางประเภทอาจมีการเล่นเพลงพื้นบ้านร่วมด้วย เช่น รำโทน รำวง รำเหย่อย รำแม่ศรี ฯลฯ
                ปัจจุบันการแสดงพื้นบ้านมีการอนุรักษ์ เผยแพร่ และพัฒนา จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนมากขึ้นทำให้พบว่ามีทั้งการนำเสนอแบบดั้งเดิม และปรับปรุงใหม่ ประกอบกับบางท้องถิ่นพบว่ามีเจ้านาย หรือบุคคลสำคัญเข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาทำให้เกิดมีรูปแบบราชสำนักเกิดขึ้นด้วย เช่น การแสดงพื้นบ้านแบบราชสำนักคุ้มหลวงเจ้าแก้วนวรัฐโดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นต้น
                ลักษณะสำคัญที่ปรากฏในการแสดงพื้นบ้านแต่ละภาคที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ รูปแบบการแต่งกาย ท่วงทีลีลาการร่ายรำ สำเนียงการขับร้อง และสำเนียงดนตรี

การแสดงพื้นบ้านภาคต่าง ๆ

ภาคเหนือ
การละเล่น หรือการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือ แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ




ศิลปะการตีกลองสะบัดชัย



ฟ้อนแง้น นิยมใน จังหวัดพะเยาว์ แพร่ น่าน
เกิดจากการเล่นเพลงซอ บางช่วงช่างซอไม่ได้ขับซอ
ก็จะลุกขึ้นฟ้อนแสดงความสามารถในการฟ้อน   
 และความตัวอ่อนของช่างฟ้อน หรือ ช่างซอ

            . การละเล่นพื้นบ้าน หรือ การแสดงพื้นบ้าน แบบดั้งเดิม ได้แก่ ฟ้อนเล็บแบบดั้งเดิม  ฟ้อนแง้น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ กลองสะบัดชัย กลองมองเซิง ฯลฯ 




ศิลปะการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และตีไม้ค้อน ของชาวไทลื้อ

            . การละเล่นพื้นบ้าน หรือการแสดงพื้นบ้าน แบบราชสำนัก ได้แก่ ฟ้อนม่านมุยเชียงตา ระบำซอ ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนโยคีถวายไฟ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ในราชสำนัก เป็นการละเล่น หรือการแสดงที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นผู้ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงเนื่องในโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ เมื่อทรงกลับมาประทับที่เชียงใหม่ ได้ทรงนำเอาแบบอย่างการฝึกนาฏศิลป์ในราชสำนักสยาม มาฝึกการฟ้อนในคุ้มของพระองค์เอง พร้อมกับนำครูละคร และครูดนตรี จากกรุงเทพฯ มาฝึกหัด และถ่ายทอดให้ข้าหลวงในราชสำนักของพระองค์ ตลอดจนในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงเป็นเหตุให้การฟ้อนแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ทำให้เกิดรูปแบบท่าฟ้อนขึ้นใหม่ที่มีความสวยงาม และมีแบบแผนที่ดีกว่า


ฟ้อนเงี้ยว (เมือง) พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ทรงนำเอาท่าฟ้อนที่มีการเล่นแต่เดิม
นำมาปรับให้มีแบบแผนมากขึ้น

            นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งที่มีชาวบ้าน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ประดิษฐ์ขึ้นมา รวมทั้งสถานศึกษาต่าง ๆ ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม  เช่น  ฟ้อนสาวไหม  ฟ้อนนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่  ฟ้อนกมผัด  ฟ้อนวี ฟ้อนหริภูญชัย  ฟ้อนหอก เป็นต้น




การตีกลองชัยมงคล และการแสดงฟ้อนผาง 
นักศึกษาสถาบันบัฑิตพัฒนศิลป์
ปรับปรุงจากท่าฟ้อนที่ได้รับถ่ายทอดจากครูมานพ ยาระณะ

ภาคกลาง
            การละเล่น หรือการแสดงพื้นบ้านภาคกลาง มีทั้งที่เป็นแบบดั้งเดิม ที่นิยมเล่นกันสืบต่อกันมานาน และมีการปรับปรุงขึ้นมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเอกชน และของภาครัฐ
            การละเล่น หรือการแสดงพื้นบ้านภาคกลางแบบดั้งเดิม ได้แก่ รำกลองยาว รำเหย่อย เต้นกำรำเคียว รำแม่ศรี รำเกี่ยวข้าว  เป็นต้น




การแสดงกลองยาวภาคกลาง



ระบำชาวนา ผลงานของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(นาฏศิลป์ไทย)

            การละเล่นพื้นบ้าน หรือการแสดงพื้นบ้านที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ได้แก่ ระบำขวัญข้าว ระบำกลอง ระบำชาวนา ระบำทอเสื่อ        ระบำกว่าจะเป็นข้าว ระบำเก็บพริกไทย ระบำจักสาน  เป็นต้น

ภาคอีสาน
        


การแสดงเซิ้งโปงลาง เป็นการแสดงที่สร้างขึ้นใหม่


การแสดงฟ้อนภูไท เป็นของกลุ่มชาวภูไทในภาคอีสาน
เป็นการแสดงของภาคอีสาน

          การละเล่นพื้นบ้าน หรือการแสดงพื้นบ้านของภาคอีสานในปัจจุบันมีทั้งรูปแบบที่เป็นแบบดั้งเดิม และปรับปรุงขึ้น เช่น เดียวกัน  ที่เป็นแบบดั้งเดิมได้แก่ เรือมอัมเร หมอลำหมู่ เซิ้งบั้งไฟ กระโน้บติงตอง  เป็นต้น  สำหรับการละเล่นที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ได้แก่ เซิ้งกระติ๊บข้าว  เซิ้งโปงลาง  เซิ้งกระหยัง ฟ้อนภูไท  เป็นต้น

ภาคใต้





ลีลาท่ารำการแสดงโนรา ศิลปะพื้นบ้านภาคใต้


การแสดงรองเง็ง เป็นการเต้นรำที่นิยมกันในกลุ่ม
ชาวไทยมุสลิม

            การละเล่นพื้นบ้าน หรือการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ที่เป็นแบบดั้งเดิมได้แก่ รองเง็ง ซำเป็ง ศิละ หนังตะลุงคน มะโย่ง โนรา เป็นต้น สำหรับที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ได้แก่ ระบำร่อนแร่ ตารีบุหงารำไป     ตารีกีปัส ระบำกรีดยาง เป็นต้น

ตารางแสดงความแตกต่างระหว่าง
เพลงพื้นบ้าน และการแสดงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้าน
การแสดงพื้นบ้าน
- กำเนิด
           ไม่ทราบกำเนิดที่แน่ชัด                                                                     
- กำเนิด
              ไม่ทราบกำเนิดที่แน่ชัดเช่นเดียวกัน
- วิธีการแสดง
          เน้นความสนุกสนานเรียบง่าย ไม่มีแบบแผน ใช้การร้องเพลงโต้ตอบกันระหว่างหญิง ชาย ในเชิงเกี้ยวพาราสี
- วิธีการแสดง
            ใช้การร่ายรำประกอบเพลงร้อง และดนตรี มีทั้งที่เป็นแบบแผน และไม่มีแบบแผน เน้นความสนุกสนาน สวยงาม เรียบง่าย
- การแต่งกาย
            แต่งกายตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น
- การแต่งกาย
               แต่งกายตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้าน
- ดนตรี
          จะแสดงออกสำเนียงดนตรี และภาษาในแต่ละท้องถิ่น
- ดนตรี
              แสดงออกในสำเนียงดนตรี และภาษาในแต่งละท้องถิ่น
- ผู้แสดง
          หากมีการร้องโต้ตอบกันจะใช้อย่างน้อย 2 คน นิยมใช้ชาย และหญิงข้างละฝ่าย
- ผู้แสดง
              มีรูปแบบการแสดงทั้งที่เป็นระบำ (รำหมู่ ) รำเดี่ยว หรือรำคู่ ก็ได้ แต่นิยมใช้ผู้แสดงจำนวนมากประเภทเดียวกับระบำ หรือรำหมู่
- เนื้อหาที่แสดง
            นิยมแสดงเพื่อเป็นการแสดงฝีปาก     หรือแสดงปฏิภาณไหวพริบในการร้องโต้ตอบแก้คำกัน มีทั้งที่ร้องเป็นเรื่องราว และไม่เป็นเรื่องราว
- เนื้อหาที่แสดง
              เป็นการแสดงท่ารำที่สวยงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น หากมีบทร้องก็จะมีความหมายที่ดี ใช้คำไพเราะ หรือสนุกสนาน
- โอกาสที่แสดง
           แสดงในงานรื่นเริง หรือเทศกาลต่าง ๆ
- โอกาสที่แสดง
        แสดงในงานรื่นเริง หรืองานเทศกาลต่าง ๆ
- การสืบทอด
          ใช้วิธีมุขปาฐะ ในระหว่างชุมชน ครอบครัว โดยการบอกเล่า ไม่มีตำรา หรือการบันทึก
- การสืบทอด
      ใช้วิธีมุขปาฐะ เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้าน