วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

โขน ละครไทย หนังใหญ่ หนังตะลุง หุ่นไทย

ศิลปะการแสดงไทย
การแสดงที่เป็นเรื่องราว
ละครไทย
         คำว่า ละครเป็นคำที่นำมาใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงสุโขทัยยังไม่ปรากฏคำนี้ จึงเข้าใจได้ว่าการละครไทยน่าจะมีก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพียงแต่หลักฐานการเล่นเป็นเรื่องราวประเภทนี้ไม่ปรากฏแน่ชัด ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน "ละคร" หมายถึง การมหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ หมายความว่าต้องแสดงเป็นเรื่องจึงจะเป็นละคร แม้ว่าจะใช้ท่ารำประกอบก็ต้องเล่นเป็นเรื่องเป็นราว  การละครของไทยนั้นมีมาตั้งแต่โบราณ มีส่วนประกอบระหว่างการขับร้อง การฟ้อนรำ และการบรรเลงดนตรี ตลอดจนผู้แสดง
ละครไทยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ใหญ่  คือ
            ๑.ละครรำ
            ๒.ละครที่ได้อิทธิพลจากตะวันตก เรียกว่าละครไทยสมัยใหม่

๑. ละครรำ
                เป็นละครที่ผู้แสดงเคลื่อนไหวโดยใช้การร่ายรำเป็นการแสดงออก สื่อให้ผู้ชมเข้าใจไม่ว่าจะเป็นกิริยาการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน การแสดงอารมณ์ เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ ฯลฯรวมทั้งใช้ท่ารำประกอบการเจรจาของตัวละคร แม้ว่าละครรำที่นิยมเล่นกันมาจะมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังคงมีกระบวนการแสดงออกที่ใช้ท่ารำดำเนินเรื่อง  การชมละครรำจึงต้องเข้าใจลักษณะการเคลื่อนไหวที่แสดงออกเป็นท่ารำ ประกอบการขับร้อง ดนตรี การเจรจา จึงจะสัมผัสกับสุนทรียะรสของการแสดง                                 ละครรำแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ 
                  - ละครรำที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม 
                  -  ละครรำแบบปรับปรุงใหม่

๑. ละครรำที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม เป็นละครรำที่เน้นกระบวนการใช้ท่ารำดำเนินเรื่องเป็นสำคัญ แตกต่างกันที่ลีลาการ่ายรำเท่านั้นที่จะบอกให้เข้าใจว่าเป็นละครของสามัญชน หรือละครในราชสำนัก ละครรำแบบดั้งเดิมถือเอากระบวนการร่ายรำเป็นหัวใจของการแสดง  นิยมเล่นมานานและเป็นรูปแบบที่ถูกนำไปพัฒนาเป็นละครรำปรับปรุงใหม่ในยุครัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๕ ละครรำมี ๓ ลักษณะ คือ

                 ๑.     ละครโนห์รา-ชาตรี
                 ๒.    ละครนอก
                 ๓.    ละครใน

ละครโนห์รา ชาตรี               
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าละครแบบนี้เป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังขุนศรีศรัทธา ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยานำไปเผยแพร่ในภาคใต้ จนได้รับความนิยมมาก แต่ถนัดเล่นเรื่องมโนห์รา ปัจจุบันชาวภาคใต้เรียกละครนี้ว่า ละครโนราต่อมาละครภาคกลางทางกรุงศรีอยุธยาได้มีการปรับปรุง การแสดงจึงเปลี่ยนรูปไป ทำให้มีรูปแบบที่ต่างกันไป
คำว่า ชาตรีเป็นอีกชื่อหนึ่ง เข้าใจว่า นิยมเล่นเรื่องราวของกษัตริย์ การออกเสียงอย่างสันสกฤต อาจเพี้ยนจากกษัตริย์ เป็น ฉัตร ฉัตริ และกลายเป็น ชาตรี ตามลำดับ ชาตรี” เป็นละครประเภทที่ใช้เรียกกันในภาคกลาง ส่วนภาคใต้เรียกว่า โนห์รา” 

            ลักษณะโดยทั่วไปของละครโนห์ราชาตรี

สถานที่แสดงละครชาตรีในปัจจุบัน
 จะพบว่าไม่มีเสากลางเวที

สถานที่แสดง/โรงแสดง/เวทีแสดง         นิยมเล่นกลางแจ้งปลูกเวทีเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคาหรือผืนผ้ากันแดด มีเสากลางเวทีชื่อเสามหาชัย ผูกซองคลีติดไว้  มีไม้กระบอกลำใหญ่ทำเป็นราวทอดสำหรับตัวละครนั่ง (ภายหลังใช้เตียงแทน) คนดูดูได้รอบด้าน
ซองคลีใช้บรรจุอาวุธต่างๆ



ปัจจุบันเมื่อไม่มีเสามหาชัยกลางเวทีจะนำมาวางไว้
ข้างเตียงใหญ่ที่ให้นักแสดงนั่งทำบท


การแต่งกายละครชาตรีในยุคแรก
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้แสดง ๓ ตัว เป็นชายล้วน คือ ตัวนายโรง (แต่งกายยืนเครื่อง) ตัวนาง และตัวตลกเล่นเป็นตัวเบ็ดเตล็ดอืนๆ เช่น เสนา และสัตว์ต่างๆ                      การแต่งกาย เดิมไม่สวมเสื้อ เพราะใช้ผู้ชายแสดง ตัวยืนเครื่อง(ตัวนายโรง) นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าทับชั้นนอกหยักรั้ง จีบโจงหางหงส์ คาดเจียระบาด(รัดสะเอว) มีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง ศีรษะสวมเทริด  ต่อมาเมื่อมีผู้หญิงแสดงด้วย จึงแต่งกายอย่างละครนอก
จำนวนผู้แสดงที่เพิ่มขึ้นในยุคต่อมา
 และการแต่งกายที่เปลี่ยนไป
เทริด เครื่องประดับศีรษะ
ที่นายโรงใช้

ชฏา ละครในและละครนอกใช้

หน้ากากโนรา ละครชาตรีภาคกลางนำมาใช้
                            วิธีแสดง เริ่มด้วยพิธีบูชาครูเบิกโรง มีเครื่องสังเวยตามประเพณี เมื่อบูชาครูเสร็จแล้ว ปี่พาทย์บรรเลงโหมโรงชาตรี ตัวยืนเครื่อง(นายโรง)ออกมานั่งบนราว(เตียง)ร้องไหว้ครู แล้วจึงลุกขึ้น   รำซัดหน้าบทตามเพลง ขณะที่รำจะร่ายอาคมไปด้วยเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร รำเวียนจากซ้ายไปขวารอบเสามหาชัย  รำซัดจบก็เริ่มเรื่องแสดง ตัวละครขึ้นนั่งเตียงขึ้นบทละคร  ตัวละครร้องเองไม่มีต้นเสียง ตัวละครอื่น ที่ยังไม่ถึงบทแสดงจะทำหน้าที่ร้องรับเป็นลูกคู่   เมื่อเลิกแสดง มีการรำซัดของนายโรงอีกครั้ง ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนจากขวาไปซ้ายรอบเสามหาชัย เป็นการคลายยันต์ ถอนอาคมทั้งปวง  (การรำเบิกโรงไหว้ครู และรำซัดนั้นแต่ละคณะจะมีลีลาที่แตกต่างกันไป)
ดนตรี ประกอบด้วย ปี่ ฉิ่ง กรับ กลอง นิยมใช้เพลงร่ายชาตรีในการขับร้องเล่าเรื่อง บรรยายความกระชับเรื่อง และพรรณนาความ
เรื่องที่แสดง เดิมนิยมแสดง ๒ เรื่อง คือ เรื่องมโนห์รา ตอนพรานบุญจับนางมโนห์ราไปถวายพระสุธน และเรื่องรถเสน ตอนพระรถมอมเหล้านางเมรี แล้วขึ้นม้าหนีไป ปัจจุบันนำเอานิทานพื้นบ้านต่างๆ มาเล่นด้วย
ตัวอย่างละครชาตรีในปัจจุบัน จากตัวอย่างจะเห็นการโหมโรง         
 การร้องไหว้ครู การรำซัดชาตรี การร้องร่ายชาตรี 
วิธีการแสดงที่ยังมีรูปแบบเดิมให้เห็น
ละครนอก
ดัดแปลงมาจากละครโนห์ราชาตรี เดิมไม่เรียกว่าละครนอก     มาถึงสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เกิดละครในราชสำนักขึ้น จึงบัญญัติชื่อขึ้นเรียกเพื่อให้แตกต่างกัน
 เดิมเป็นละครพื้นเมืองทั่วไป คงจะเรียกว่า ละครเท่านั้น จนเมื่อเกิดละครนางในขึ้น จึงเรียกละครชนิดนี้ว่า ละครนอกราชสำนัก” และกลายเป็นละครนอกจนถึงปัจจุบัน
สถานที่แสดงในยุคก่อน หากไม่ปลูกเวทีแสดง
ก็จะแสดงในที่โล่งแจ้ง 

โรงแสดง  ให้มีฉากกั้นสองส่วน ภายในเป็นที่แต่งตัวและเป็นที่พักของนักแสดง ด้านนอกเป็นเวทีแสดง มีม่านกั้นเจาะเป็นประตูเข้า ออก ๒ ข้าง หน้าม่านตรงกลางตั้งเตียงใหญ่สำหรับให้ตัวละครนั่ง ไม่มีการเปลี่ยนฉาก ต่อมาการแสดงได้มีวิวัฒนาการให้มีการจัดฉากเปลี่ยนฉากตามเรื่องราวที่แสดง
การแต่งกายละครนอกเลียนแบบการแต่งกาย
ยืนเครื่องแบบละครใน แต่ไม่งดงามเท่า
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายแสดงแบบละครชาตรีต่อมามีการเพิ่มตัวละครให้มากขึ้น เริ่มใช้ผู้หญิงแสดงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาปัจจุบันอาจใช้ผู้หญิงแสดงล้วน หรือชายล้วนก็ได้ แต่ละครนอกที่ใช้ผู้ชายแสดงจะได้รับความนิยมมากกว่า






ละครนอกใช้ชายเล่นล้วนแต่งกายยืนเครื่อง
แสดงเรื่องสังข์ทองตอนรจนาเลือกคู่ 
เป็นเรื่องกษัตริย์จึงให้แต่งยืนเครื่อง
การแต่งกาย เดิมแต่งแบบละครชาตรี ต่อมาเลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ ยืนเครื่อง พระ-นาง ศีรษะสวมมงกุฎ ชฎา รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว และกระบังหน้า ตามฐานะของตัวละคร ตามแบบละครในราชสำนัก แต่งไม่ประณีตงดงามเท่า




วงปี่พาทย์เครื่องห้า
ดนตรี นิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย ปี่ ระนาด ฆ้องวง ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง  เพลงร้องไม่นิยมให้มีเอื้อนยาวมากนัก โดยมากดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงร่ายนอกเป็นพื้นจังหวะเพลงใช้เพลงอัตราชั้นเดียว(เร็วกระชับ) หรือ สองชั้น(ปานกลาง)


ละครนอกเรื่องคาวี ตอน นางคันธมาลีหึง
วิธีแสดง  ไม่มีรำเบิกโรงไหว้ครู ใช้วงปี่พาทย์โหมโรง เมื่อโหมโรงจบ เริ่มจับเรื่องแสดง  มุ่งแสดงดำเนินเรื่องเร็ว แทรกตลก ลีลาการร่ายรำเป็นไปอย่างว่องไว กระฉับกระเฉงเหมาะกับทำนองเพลง ถ้อยคำภาษาที่ใช้มักเป็นถ้อยคำตลาด ไม่เคร่งครัดระเบียบประเพณี เนื่องจากเป็นละครพื้นเมืองที่เล่นกันอยู่ข้างนอกราชสำนัก ตัวสูงศักดิ์อาจพูดเล่นกับตัวเสนาได้ บางครั้งมีหยาบโลนโลดโผนบ้าง ตอนใดที่มีช่องทางเล่นตลกได้ก็จะแทรกตลกตรงนั้นนาน ๆ ไม่คำนึงถึงเวลา
ละครนอกเรื่องไกรทอง แต่งกายแบบสามัญชน
เพราะเป็นเรื่องของชาวบ้านเมืองพิจิตร

การแต่งกายยืนเครื่องละครนอกในปัจจุบัน
มีความงดงามมากขึ้นต่างจากยุคแรก
โคบุตร สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย พิณสุริวงศ์ โม่งป่า ศิลป์สุริวงศ์ โสวัตร สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ ไกรทอง ละครนอกสามารถแสดงได้ทุกเรื่อง ยกเว้น ๓ เรื่องที่ใช้แสดงละครในเรื่องที่แสดง ในสมัยอยุธยาคงมีเล่นอยู่มาก แต่ที่มีต้นฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติมีเพียง ๑๙ เรื่อง คือ มโนห์รา คาวี มณีพิชัย ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์  พระรถ การะเกด ไชยเชษฐ์ 









ตัวอย่างละครนอกใช้ผู้ชายล้วน เรื่องไกรทอง ตอนพ้อบน 
ละครนอกนิยมแสดงตอน แย่งชิงทะเลาะตบตีหึงหวง

ละครใน
           เป็นละครสำหรับพระมหากษัตริย์  ดัดแปลงจากละครนอก ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน เดิมเรียก ละครข้างในหรือ ละครนางในเพราะหญิงที่แสดงนั้นเป็นนางสนมกำนัลในราชสำนัก ละครประเภทนี้ มี ความประณีตงดงามเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่กระบวนการรำต้องมีความอ่อนช้อย บทกลอนที่ใช้ในการร้องต้องเลือกสรรมาอย่างดี มีสำนวนสละสลวยเหมาะกับท่ารำ เพลงในละครเป็นเพลงที่ไพเราะ จุดมุ่งหมายของการเล่นละครใน เพื่อต้องการให้เห็นถึงศิลปะของการรำและการร้องที่ถูกแบบแผน การแสดงอาจมีระบำแทรก การขับร้องมีต้นเสียงร้องแทนตัวละคร ไม่นิยมเล่นบทตลกขบขัน แต่เดิมมีพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิง(ละครใน) เพราะถือว่าเป็นละครหลวงสำหรับเล่นในงานพระราชพิธีในพระราชนิเวศน์ เป็นเครื่องราชูปโภคอันหนึ่งผู้อื่นไม่ควรจะทำเทียม มาถึงรัชกาลที่ ๔ จึงเลิกข้อห้าม 
          โรงแสดง เดิมแสดงในพระราชฐาน ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้อื่นมีละครผู้หญิงได้ ทำให้ละครใน แพร่หลายในหมู่ประชาชน โรงที่แสดงจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับละครพื้นเมือง(ละครนอก) หากแต่ใช้ผ้าม่านและวัสดุอุปกรณ์ประกอบให้งดงามมากกว่า
           
ละครใน เรื่องอิเหนา ตอน จากนางไปแก้สงสัย
ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน แต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง
ผู้แสดง ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน
            การแต่งกาย แต่งเลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ หรือแต่งยืนเครื่องพระ นาง  มีความพิถีพิถันประณีตมากกว่าละครนอก
            ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ตามโอกาส เพลงร้องใช้เพลงทำนองลีลาช้า อัตราสามชั้น และสองชั้นแต่ก็ไม่ยืดอืดเหมาะกับกระบวนท่ารำ นิยมใช้เพลง
วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
ร่ายใน 
ดำเนินเรื่อง หรือกระชับเรื่อง
            วิธีแสดง เริ่มต้นด้วยการรำเบิกโรง จากนั้นจึงแสดงเป็นเรื่อง มุ่งการขับร้องที่ไพเราะเอื้อนยาวละเอียด กระบวนการรำงดงาม ดำเนินเรื่องด้วยความประณีต มีเพลงหน้าพาทย์บรรเลงประกอบการแสดง ไม่นิยมเล่นตลกคะนอง ถ้าจะตลกก็จัดเป็นส่วนเป็นตอนให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและใช้ผู้ชายแสดงตลก
           
เบิกโรงชุดฉุยฉายกิ่งไม้เงิน-ทอง
นิยมใช้เบิกโรงก่อนแสดงละครใน
เรื่องที่แสดง แสดงเฉพาะ ๓ เรื่อง คือ อิเหนา        อุณรุท รามเกียรติ์ บทละครที่เด่นที่สุดคือเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  เพราะเมื่อนำมาแสดงสามารถจัดการแสดงได้อย่างสมบูรณ์มีความงามครบ ๕ องค์ประกอบของละครรำ คือ


ละครในเรื่อง อิเหนา 
๑.      ตัวละครงาม (ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน)
๒.    รำงาม (การร่ายรำอ่อนช้อยประณีต)
๓.     เครื่องแต่งกายงาม (แต่งกายแบบเครื่องทรงกษัตริย์)
๔.     บทกลอนไพเราะ (ใช้คำที่ไพเราะสละสลวย)
๕.     ทำนองเพลงและดนตรีไพเราะ (มีการขับร้องและการบรรเลงดนตรีที่ไพเราะ)
ละครใน เรื่อง อุณรุท

การแสดงละครในเรื่อง อิเหนา
 ตอน อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา

2. ละครรำปรับปรุงใหม่
                นำเอารูปแบบละครรำแบบดั้งเดิมมาพัฒนาโดยให้มีรูปแบบการแสดงที่แตกต่างออกไปจากเดิม บางประเภทพบว่ามีการนำเอารูปแบบบางลักษณะของละครตะวันตกมาผสมผสานเข้าไว้ บางลักษณะก็มีการปรับปรุงในเรื่องของเพลงร้องที่ใช้ประกอบการแสดง ตลอดจนลีลาการร่ายรำ รวมทั้งเรื่องราวที่นำมาแสดง เป็นต้น ละครรำประเภทนี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นละครที่ใช้กระบวนการรำเป็นการแสดงออกแต่ไม่่ถือว่ากระบวนการรำมีความสำคัญและเป็นหัวใจของการแสดงเหมือนละครรำแบบดั้งเดิม  แยกออกเป็น ๔ ลักษณะ  คือ
              ๑.    ละครดึกดำบรรพ์
              ๒.    ละครพันทาง
              ๓.    ละครเสภา
              ๔.    ละครชาตรีเข้าเครื่อง หรือละครชาตรีเครื่องใหญ่

ละครดึกดำบรรพ์
            เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรับปรุงจากละครใน ให้การดำเนินเรื่องเร็วขึ้น และแทรกสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งยังไม่เคยมีในละครไทยประเภทอื่น ๆ มาก่อน เริ่มจากในปีพ.. ๒๔๓๔ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์(...หลาน กุญชร) ขณะดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมมหรสพ ไปเยือนยุโรปได้มีโอกาสชมละครโอเปร่า (Opera) ไทยเรียกว่า อุปรากรเมื่อกลับจากยุโรปได้ทูลชวนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ร่วมมือปรับปรุงการเล่นละครแบบคอนเสิร์ต (Concert) โดยร่วมมือกับ       ท่านอื่นๆ คือ
       ๑.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ทรงพระนิพนธ์บท ปรับปรุงวิธีการแสดง ตลอดจนกำกับการแสดง
๒.  เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (...หลาน กุณชร) เป็นกำลังด้านสถานที่ ผู้แสดง นักร้อง นักดนตรี ดนตรี และอุปกรณ์ต่าง ๆ
       ๓. หม่อนเข็มกุญชร ประดิษฐ์ท่ารำและฝึกสอนรำ
       ๔. พระประดิษฐ์ไพเราะ(ตาด ตาตะนันท์) ปรับปรุงทำนองเพลงดนตรี
       ๕. หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพิรุฬห์) ปรับปรุงทำนองร้อง
        เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ได้สร้างโรงละครขึ้นใหม่ ชื่อว่า โรงละครดึกดำบรรพ์โดยประสงค์จะใช้คำว่า ดึกดำบรรพ์”  เป็นชื่อคณะละครคนทั่วไปจึงเรียกละครที่ปรับปรุงใหม่อย่างโอเปร่าว่า                ละครดึกดำบรรพ์” ตามชื่อโรงละคร

         
การจัดฉาก และเทคนิค แสงสี ประกอบการแสดง
ละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งได้อิทธิพลจากการแสดงโอเปร่า
โรงแสดง แสดงครั้งแรกที่โรงละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ในวังบ้านหม้อ ถนนอัษฎางค์  มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคแสง สี เสียง ประกอบเพื่อให้ดูสมจริง ต่อมากลายเป็นต้นแบบการแสดงของไทยที่เล่นเป็นเรื่องราวให้มีการสร้างฉาก ใช้เทคนิค แสง สี เสียงประกอบ เช่นเดียวกันกับละครดึกดำบรรพ์
           
การแต่งกายละครดึกดำบรรพ์
เรื่อง จันทกินรี
ปัจจุบันมีการใช้ชายรับบทพระจากเดิมใช้หญิงล้วน

            ผู้แสดง ใช้ผู้หญิงแสดงล้วนแบบละครใน  ต้องเป็นคนที่มีเสียงดี รูปงาม และรำสวย
            การแต่งกาย แต่งยืนเครื่องพระ นาง เหมือนละครใน
            ดนตรี ผสมวงดนตรีขึ้นใหม่โดยใช้วงปี่พาทย์ แต่ตัดเครื่องดนตรีที่มีเสียงสูง ดัง และเล็กแหลมออก เช่น ใช้ขลุ่ยแทนปี่นอก ใช้กลองตะโพนแทนกลองทัด ระนาดเอกตีด้วยไม้นวม เพิ่มซออู้ และฆ้องหุ่ย ๗ ลูก ๗ เสียง เข้ามา เป็นต้น เรียกว่าวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพลงร้องใช้จังหวะปานกลางเอื้อนไม่มาก บางครั้งใช้การขับเสภา การขับทำนองเสนาะต่างๆ เช่น ทำนองสรภัญญะ หรืออาจมีการใช้บทพากย์เจรจาแบบโขน เข้าร่วมด้วย
วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
            วิธีแสดง ผู้แสดงร้องเอง และรำทำบทประกอบ บทร้องเป็นบทพูด ไม่มีบทกล่าวถึงกิริยาอาการต่าง ๆ เพราะตัวละครแสดงท่าทางประกอบให้เห็นอยู่แล้ว บทละครดึกดำบรรพ์มีเฉพาะบทร้องที่เป็นคำพูดตัวละคร ความไพเราะบทร้องอยู่ที่บทแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น บทโกรธ บทเกี้ยวพาราสี ฯลฯ การบรรเลงดนตรีจะบรรเลงตามหลักการบรรเลงดนตรีไทย การร้องไม่มีเอื้อนมากเพราะทำให้ตัวละครรำช้า แต่ก็ไม่รวดเร็วเกินไป ถ้าเป็นบทที่ใช้ดำเนินเรื่องจะมีลักษณะกระชับ การโต้ตอบกัน ใช้บทเจรจาที่แต่งเป็นบทกลอนเพื่อให้จำได้ง่าย เวลาเจรจาให้มีจังหวะเหมือนการพูด ไม่ใช่การอ่านกลอน กระบวนการรำไม่มีมากเพราะต้องการให้เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีเพียงการรำใช้บทเป็นพื้น บางฉากมีการแทรกระบำ รำ ฟ้อน ที่สวยงาม ฉากสุดท้ายต้องมีความสวยงามมากกว่าฉากอื่น ใช้ผู้แสดงจำนวนมากตามแบบโอเปร่าเพื่อให้ผู้ชมติดใจ
            เรื่องที่แสดง นำมาจากบทวรรณคดี หรือบทละครที่มีกวีแต่งไว้ โดยตัดบางตอนมาแสดง ปรับปรุง และแทรกบทเจรจาใหม่ เช่น เรื่อง สังข์ทอง คาวี อิเหนาตอนใช้บน สังข์ศิลป์ชัย รามเกียรติ์ตอนสูรปนขาหึง ต่อมามีการดัดแปลงบทละครเดิม และแต่งบทเพิ่มเติมขึ้นใหม่หลายเรื่อง เช่น ยศเกตุ จันทกินรี ศกุนตลา ท้าวแสนปม เป็นต้น


วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

ละครดึกดำบรรพ์เรื่องคาวี ตอนเผาพระขรรค์

ละครพันทาง
            เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครแบบผสมที่มีตัวละครหลายเชื้อชาติอยู่ในเรื่องเดียวกัน ปรับปรุงขึ้นโดยยึดแบบแผนของละครนอก ผู้ริเริ่ม คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) คำว่า "พันทาง" หมายถึงลักษณะผสม หรือการนำเอาลักษณะเด่นสองลักษณะมาผสมกัน เรียกว่า พันทาง
            โรงแสดง แสดงบนเวทีมีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง ตลอดจนการใช้เทคนิค แสง สี เสียง ให้สมจริง
          
ละครพันทางเรื่องราชาธิราช ผู้แสดงแต่งกายแบบพม่า
 ผู้แสดง นิยมใช้ทั้งชาย และหญิง
          การแต่งกาย แต่งตามเชื้อชาติของตัวละครในเรื่องที่แสดง ถ้าเป็นตัวละครเชื้อชาติไทยจะแต่งกายยืนเครื่องไม่เต็มที่อย่างละครนอก หรือละครใน เรียกว่า                                                                                      แต่งเครื่องน้อย
การแต่งพันทางแบบพม่า
          ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือ เครื่องใหญ่เป็นหลัก เพิ่มเครื่องดนตรีที่มีสำเนียงตามเชื้อชาติของตัวละครในเรื่อง เช่น จีน มีล่อโก๊ะ และกลองต๊อก พม่า มีเปิงมางคอก นำมาบรรเลงผสมกับวงปี่พาทย์ของไทย เพลงร้องหากร้องประกอบการแสดงตัวละครชาติต่าง ๆในเรื่องจะดัดสำเนียงการขับร้องและการบรรเลงให้เพี้ยนตามชาติของตัวละคร เรียกว่า เพลงภาษา
           
การแต่งพันทางแบบจีน เมื่อเล่นเรื่องจีน












กลองต๊อก นำมาให้จังหวะในการบรรเลง และร้องเพลงสำเนียงจีน









เปิงมางคอก 







การแต่งเครื่องน้อยของตัวละครหญิง

การแต่งเครื่องน้อยของตัวละครไทยที่เป็นชาย










วิธีแสดง 
       ดำเนินเรื่องด้วยเพลงร้อง มีบทเจรจาที่เลียนสำเนียงของชาติต่าง ๆ มีการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์อย่างละครรำ การแสดงท่ารำหนักไปทางละครนอก คือรวดเร็วกระฉับกระเฉง ตัวละครต่างชาติจะผสมกับท่ารำของชาตินั้น ๆ เช่น ตัวละครลาวจะใช้ท่ารำไทยประกอบการโย้ตัว   ตัวละครพม่าจะตีไหล่ ตัวละครญวนจะกระทายไหล่ ฯลฯ นำเอาเพลงร่ายนอกมาใช้ในการดำเนินเรื่อง
            เรื่องที่ใช้แสดง เล่นเรื่องที่เรียกว่า เรื่องภาษา คือเรื่องราวที่มีชนชาติต่าง ๆ ในเรื่องที่แสดง เช่น ราชาธิราช พระอภัยมณี      พระลอ สามก๊ก  มีการปรับปรุงบทละครขึ้นใหม่หลายเรื่อง โดยนำเอาประวัติศาสตร์พงศาวดารของไทยมาแสดง เช่น คุณหญิงโม วีรสตรีถลาง กบฎธรรมเสถียร ฯลฯ รวมทั้งเรื่องราวพงศาวดารของต่างชาติ เช่นสามก๊ก เลียดก๊ก เป็นต้น
ละครพันทางเรื่องราชาธิราช ตอน สมิงพระราม(มอญ)
รบกามนีแม่ทัพจีน

ละครเสภา
            การขับเสภาเนื่องมาจากการเล่านิทานให้คนฟัง เมื่อเป็นที่นิยมกันมากถึงกับหาบุคคลที่มีวาทศิลป์ไปเล่านิทานก็เกิดการแข่งขันกันขึ้น บางคนจึงคิดแต่งเป็นบทกลอนมาประกอบการเล่า ต่อมาก็คิดแต่งเป็นทำนองมีเครื่องประกอบจังหวะ เช่น กรับ มาประกอบ จึงกลายเป็นการขับเสภา เสภามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมไม่มีดนตรีประกอบการขับเสภา ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าให้นำปี่พาทย์มาบรรเลงประกอบ โดยบรรเลงเฉพาะเพลงหน้าพาทย์ เช่น เชิด เสมอ รัว ลา โอด ฯลฯ ต่อมาให้มีการร้องเพลงประกอบอย่างละคร และเปลี่ยนจังหวะให้มีลักษณะเป็นเพลงอัตราสองชั้น
            สมัยรัชกาลที่ 3 เพลงที่ร้อง และบรรเลงในการขับเสภาเปลี่ยนจากอัตราสองชั้น มาเป็นสามชั้น จนถึงปัจจุบัน ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ มีผู้คิดนำเอาตัวละครมาประกอบการแสดง โดยทำบทบาทตามการขับเสภา และเพลงร้อง เรียกว่า เสภารำ มี ๒ แบบ คือ เสภารำแบบสุภาพ ที่มุ่งความไพเราะ และความงดงามในลีลาท่ารำของผู้แสดงำ การขับเสภา และการรำจึงเป็นไปตามบท      เสภารำตลก เนื้อเรื่องที่เล่นจะคงเดิม แต่มีการแต่งบทร้องขึ้นใหม่ ถ้อยคำ และภาษาที่ใช้มีลักษณะตลก ผู้ขับจะขับเสภาแกล้งตัวละครเพื่อให้แสดงท่าทางตลก เรื่องที่นิยมแสดงเสภารำตลก คือ เรื่องขุนช้างขุนแผนตอน ขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา
           ตัวอย่างการแสดงละครเสภารำ(แบบสุภาพ) และเสภาตลก
ในตัวอย่างจะเห็นการแสดงเสภารำแบบสุภาพ และมีการแสดงเสภาตลกร่วมด้วย
จากรูปแบบเสภารำ เป็นรูปแบบที่นำมาปรับเป็นละครเสภา

        ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงปรับปรุงการแสดงให้แสดงแบบพันทาง แต่ใช้การดำเนินเรื่องด้วยการขับเสภา จึงเรียกละครประเภทนี้ว่า    ละครเสภา
            โรงแสดง แสดงบนเวที มีการจัดฉาก และเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องอย่างละครดึกดำบรรพ์
            ผู้แสดง ใช้ทั้งชาย และหญิง
            การแต่งกาย แต่งกายตามแบบละครพันทาง ตามลักษณะและสัญชาติตัวละครในเรื่องที่แสดง
            ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ประกอบการแสดง มีกรับเสภาประกอบการขับเสภา
            วิธีแสดง ดำเนินเรื่องด้วยการขับเสภาประกอบการรำ และการแสดง ท่าร่ายรำจะมีลักษณะเหมือนกับละครพันทาง คือมีทั้งท่ารำไทย แลท่าทางตามเชื้อชาติของตัวละครกรณีที่ตัวละครไม่ใช่ตัวละครเชื้อชาติไทย บางช่วงตัวละครอาจมีการร้องเพลงประกอบการแสดงเอง บางครั้งก็มีต้นเสียง และลูกคู่ร้องรับ เพลงร้องมีลักษณะเช่นเดียวกับละครนอก และละครพันทาง มีการใช้เพลงร่ายนอก สลับกับการขับเสภาในการดำเนินเรื่อง หรือกระชับเรื่องให้เร็ว
            เรื่องที่ใช้แสดง เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ เรื่องไกรทอง และขุนช้างขุนแผน
ละครเสภา เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน พระไวยฯ แตกทัพ
เมื่อพลายชุมพลแต่งเป็นมอญ จะเห็นว่าเพลงร้องและสำเนียงดนตรีเป็นเพลงมอญ
ด้วยเหตุนี้รูปแบบละครประเภทนี้จึงไม่ต่างจากละครพันทาง
เพียงแต่มีการนำการขับเสภามาร่วมด้วย จึงเรียกว่า "ละครเสภา"

ละครชาตรีเข้าเครื่อง หรือละครชาตรีเครื่องใหญ่
            ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผู้คิดผสมวิธีการแสดงละครชาตรีกับละครนอกเข้าด้วยกัน เรียกว่า ละครชาตรีเข้าเครื่องหรือเครื่องใหญ่ รูปแบบการแสดงมีทั้งแบบละครนอก และละครชาตรีปนกัน เป็นศิลปะการแสดงละครของไทยอีกแบบหนึ่งที่นิยมนำมาแสดงกันในปัจจุบัน
            โรงแสดง บางครั้งไม่มีการจัดฉากเช่นเดียวกับละครชาตรี บางครั้งก็มีการจัดฉากอย่างละครนอก
            ผู้แสดง ใช้ทั้งชาย และหญิง
            การแต่งกาย แต่งกายตามแบบละครนอก คือแต่งยืนเครื่องพระ นาง ศีรษะสวมเทริดตามแบบละครชาตรี
            ดนตรี  ประกอบด้วย ปี่ โทน ฆ้อง และกลอง ตามแบบละครชาตรี ผสมกับวงปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละครนอก คำว่าเข้าเครื่องหรือเครื่องใหญ่จึงเป็นที่มาจากการนำเอาวงดนตรีทั้งสองมาบรรเลงปประกอบการแสดงร่วมกัน
            วิธีแสดง เริ่มด้วยวงปี่พาทย์บรรเลงโหมโรงอย่างละครนอก มีการรำไหว้ครูอย่างละครชาตรี ระหว่างดำเนินเรื่องแสดงจะใช้เพลงในการดำเนินเรื่องทั้ง ๒ แบบ คือ มีเพลงร่ายนอก และร่ายชาตรี และเพลงอัตราสองขั้นและชั้นเดียว บรรเลงและร้องประกอบการแสดง ใช้เพลงหน้าพาทย์บรรเลงประกอบอย่างละครนอก ลีลาท่ารำขึ้นอยู่กับเพลงบรรเลง และเพลงร้องที่ใช้ประกอบการแสดง หากเพลงร้อง และเพลงบรรเลงเป็นเพลงตามแบบละครชาตรีผู้แสดงก็จะร่ายรำตามแบบละครชาตรี หากเพลงร้องและบรรเลงตามแบบละครนอกผู้แสดงก็จะร่ายรำตามกระบวนท่ารำแบบละครนอก การดำเนินเรื่องจะกระชับรวดเร็ว
            เรื่องที่ใช้แสดง  ใช้บทละครที่เป็นของละครนอก แต่นิยมแสดงเรื่องรถเสน กับมโนห์รา
ละครชาตรีเครื่องใหญ่ หรือ เข้าเครื่อง เรื่อง พระสุธน-มโนห์รา ตอนพระสุธนเลือกคู่
ในการขับร้อง การบรรเลง และการร่ายรำ จะมีรูปแบบละครนอก
ในขณะที่บางครั้งก็ใช้การร้อง การบรรเลง และการร่ายรำแบบละครชาตรี

๒. ละครไทยสมัยใหม่
            ละครไทยเริ่มพัฒนาและได้อิทธิพลละครตะวันตก บางประเภทมีการพัฒนาและมีการปรับปรุงในช่วงรัชกาลที่ ๕ ยุครัตนโกสินทร์ ผู้มีบทบาทในละครประเภทนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงมีบทบาทในการแสดงละครร้องล้วนๆ ละครพูด และละครสังคีต ในขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดมีละครร้องสลับพูดขึ้นโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ 

ละครร้อง
            เป็นละครไทยที่ได้อิทธิพลการแสดงละครตะวันตก แม้ว่าจะได้อิทธิพลละครแบบตะวันตกในยุคแรกของการเปลี่ยนแปลงยังไม่มีรูปแบบตามตะวันตกอย่างสมบูรณ์เนื่องจากรสนิยมการชมละครของคนไทยยังนิยมชมละครที่นำเสนอในรูปแบบเดิมอยู่ ทำให้ละครร้องบางประเภท เช่น ละครร้องสลับพูดยังคงมีความเป็นละครไทยปรากฎให้เห็นแทรกอยู่ และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปแบบตะวันตกอย่างชัดเจนในยุคต่อมา
            ละครร้องแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
           ๑.    ละครร้องล้วน ๆ
           ๒.    ละครร้องสลับพูด

ละครร้องล้วน ๆ
      เป็นละครร้องในแบบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้การร้องล้วนๆ เป็นบทเจรจาตลอดเรื่อง ยึดการร้องโต้ตอบของตัวละครเป็นหลักตามแบบละครโอเปร่า หรืออุปรากรของตะวันตก ปัจจุบันไม่นิยมนำมาแสดง
            โรงแสดง แสดงบนเวทีมีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง
            ผู้แสดง ใช้ทั้งชาย และหญิง
            การแต่งกาย แต่งตามยุคสมัยของเรื่องราวที่นำมาแสดง
            ดนตรี  ใช้ทั้งวงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลมาบรรเลงประกอบการแสดง
            วิธีแสดง ดำเนินเรื่องด้วยการขับร้อง ไม่มีคำพูดสามัญแทรก ตัวละครร้องเพลงโต้ตอบกันตลอดเรื่องตามแบบละครโอเปร่าของตะวันตก บทร้องจึงนิยมแต่งเป็นคำกลอน
            เรื่องที่แสดง เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์เอง มี ๑๑ เรื่อง ได้แก่ ธรรมะมีชัย มิตรมีชัย พระร่วง สาวิตรี ท้าวแสนปม พระเกียรติรถ ศกุนตลา ตั้งจิตคิดคลั่ง สองกรวรวิก จันทกินรี พระยศเกตุ เป็นต้น
                    ละครร้องเรื่อง "อิสรชน คนดี ศรีบูรพา" มีรูปแบบเป็นละครสังคีต 
               จากตัวอย่างแสดงให้เห็นการใช้บทร้องเป็นบทโต้ตอบกันเช่นเดียวกับละครร้องล้วน ๆ 
                                              ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง 

ละครร้องสลับพูด
           เป็นละครที่ใช้การดำเนินเรื่องด้วยการร้อง และมีบทพูด ประกอบการแสดง เป็นละครตามรูปแบบของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนำแบบแผนการแสดงละครของชาวตะวันตก ที่เรียกว่า Musical Drama มาดัดแปลงเป็นละครไทย โดยมีเจ้าจอมมารดาเขียน พระมารดาของพระองค์เป็นผู้ฝึกหัดท่ารำ หม่อมหลวงต่วน วรวรรณ ผู้เป็นชายาของพระองค์เป็นผู้คิดเพลงร้อง และดนตรี สมเด็จกรมพระนราฯ ทรงเป็นผู้ประพันธ์บท และกำกับการแสดงเอง ทรงเรียกละครร้องของพระองค์ว่า คณะละครนฤมิตรละครร้องเรื่องแรกของคณะคือเรื่อง อาหรับราตรีต่อมาพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเกียรติให้เป็นละครหลวง จึงเรียกชื่อคณะว่า ละครหลวงนฤมิตร และสมเด็จกรมพระนราฯ ได้ทรงตั้งโรงละครขึ้น ชื่อ โรงละครปรีดาลัย คนทั่วไปจึงเรียก ละครปรีดาลัย อีกชื่อหนึ่ง
            โรงแสดง แสดงบนเวทีมีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง
            ผู้แสดง ผู้แสดงใช้หญิงล้วน หากมีการแสดงตลกแทรกจะใช้ผู้ชายแสดง
            การแต่งกาย แต่งตามเนื้อเรื่อง หรือตามยุคสมัยของเรื่องที่แสดง หรือ แต่งตามเชื้อชาติของตัวละครในเรื่อง
            ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม บรรเลงเฉพาะเพลงหน้าพาทย์ และตอนเปลี่ยนฉาก เมื่อถึงบทร้องของตัวละครอาจใช้ ไวโอลีน ออร์แกน  ซออู้ ฯลฯ บรรเลงเดี่ยวคลอเสียงร้องของผู้แสดง
            วิธีแสดง แต่เดิมละครปรีดาลัย มีการร่ายรำทำบท ภายหลังใช้ท่าทางแบบสามัญชน บทร้องมีทั้งบทที่ว่าด้วยกิริยาอาการ ความคิดคำนึง และบทพูด สำหรับบทที่เป็นคำพูดตัวละครจะร้องเอง มีลูกคู่ร้องรับส่วนที่เป็นทำนองเอื้อน แต่ถ้าเป็นบทที่เกี่ยวกับกิริยา หรือความคิดคำนึง จะมีนักร้องที่เป็นลูกคู่ร้องบรรยายทั้งหมด ตัวละครจะเจรจาโดยใช้ปฏิภาณ ส่วนมากมักเจรจาในความที่เป็นบทร้อง
            เรื่องที่แสดง มีหลายเรื่อง เช่น สาวเครือฟ้า สาวิตรี       ศกุนตลา ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้ว -เจียรไน จันทร์เจ้าขา ขนมผสมน้ำยา เครือณรงค์ เรื่องสาวเครือฟ้าเป็นเรื่องที่นิยมกันมากที่สุดและทำให้คณะละครเป็นที่รู้จักของคนไทยในสมัยนั้น
ละครร้องสลับพูด เรื่องตุ๊กตายอดรัก แสดงโดยคณะละครมะขามป้อม


ละครร้องสลับพูดเรื่อง สาวเครือฟ้า งานศิลปนิพนธ์ เชิงอนุรักษ์
ของนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์


ละครพูด
          เป็นละครไทยที่ได้รูปแบบ และอิทธิพลการแสดงตามแบบละครเวทีของทางตะวันตก อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นละครที่ได้อิทธิพลการนำเสนอแบบตะวันตก ก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นละครไทยปะปนอยู่ เช่น เรื่องราวที่แสดง การเคลื่อนไหว ดนตรี ฯลฯ
            ละครพูดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
           ๑.    ละครพูดล้วน ๆ
           ๒.    ละครพูดสลับลำ

ละครพูดล้วน ๆ
            ละครพูดล้วน ๆ คือละครที่มีแต่บทคำพูดไม่มีการขับร้อง แสดงเป็นฉาก ผูกเรื่องตามสมัยนิยม    ผู้แสดงใช้ท่าทางแบบธรรมชาติ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้ริเริ่ม คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระบรมโอรสาธิราช ทรงตั้งสโมสรขึ้นเรียกว่า ทวีปัญญาสโมสรหรือ สโมสรละครสมัครเล่นเพื่อฝึกหัดศิลปะต่าง ๆ ให้แก่มหาดเล็ก เช่น โขน ละคร และละครพูดแบบตะวันตก ละครพูดนั้นได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6 จนมาถึงปัจจุบัน ละครสมัยใหม่ที่แสดงบนเวที หรือโทรทัศน์ ก็เป็นลักษณะของละครพูดเช่นกัน
            โรงแสดง เดิมไม่มีการจัดฉาก แต่ภายหลังมีการจัดฉาก และเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องที่แสดง
            ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาใช้ชายจริง หญิงแท้แสดง
            การแต่งกาย แต่งกายตามยุคสมัย และสภาพของตัวละครอย่างสมจริง
            ดนตรี แต่เดิมไม่มีดนตรีประกอบ ต่อมาใช้วงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลมาประกอบการแสดงในช่วงที่มีการเปลี่ยนฉาก        เปิด ปิดม่าน และบรรเลงประกอบภาพ หรืออารมณ์ตัวละครบนเวทีโดยบรรเลงเบา ๆ เรียกว่า เพลงแบล็กกราวด์” (Blackground)
            วิธีแสดง การแสดงละครพูดตรงกับการแสดงละครยุโรปที่เรียกว่า Play คือการแสดงด้วยคำพูดไม่มีการร้อง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะแสดงโดยไม่มีการเขียนบทไว้ มีการกำหนดโครงเรื่องแล้วให้ผู้แสดงคิดบทเจรจาเอง ต่อมาจึงได้มีการแต่งเป็นบทละครอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะใช้คำพูดเป็นหลักสำคัญแล้ว ท่าทางและบทบาทของผู้แสดงก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน  ต้องเป็นธรรมชาติ อาจได้รับการฝึกหัดอย่างมีหลักเกณฑ์มาด้วย
            เรื่องที่แสดง เรื่องที่ใช้แสดงละครพูดมีหลายแบบหลายลักษณะ จึงอาจมีชื่อเรียกที่ต่างกันตามลักษณะบทละคร หรือตามเนื้อหาเรื่องราวที่แสดง เช่น
            ละครพูดชวนหัว (ตลก)   ได้แก่เรื่อง ล่ามดี คดีสำคัญ
            ละครพูดชวนเศร้า           ได้แก่เรื่อง ต้อนรับลูก ฟอกไม่ขาว
            ละครพูดกินใจ                ได้แก่เรื่อง หมายน้ำบ่อหน้า
            ละครพูดปลุกใจ              ได้แก่เรื่อง หัวใจนักรบ (ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของบทละครพูด)
            ละครพูดคำฉันท์             ได้แก่เรื่อง มัทนพาทา
            ละครพูดคำกลอน            ได้แก่เรื่อง เวนิสวานิช
            ละครพูดล้วน ๆ               ได้แก่เรือง เห็นแก่ลูก โพงพาง
ละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ
การแสดงของวชิราวุธวิทยาลัย

ละครพูดสลับลำ
            ละครพูดสลับลำ นั้น คำว่า ลำมาจากคำว่า ลำนำหมายถึงบทร้อง ละครพูดสลับลำจึงเป็นละครที่มีทั้งการพูด และการร้อง แต่ยึดเอาการพูดเป็นสำคัญ บทร้องเป็นเพียงส่วนประกอบ
            โรงแสดง แสดงบนเวที มีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องที่แสดง
            ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วนตามแบบละครพูดล้วน ๆ ต่อมาใช้ชายจริงหญิงแท้แสดง
            การแต่งกาย แต่งตามลักษณะของเนื้อเรื่อง ยุคสมัยและตามลักษณะตัวละครในเรื่อง
            ดนตรี เมื่อมีการนำเอาการขับร้องเข้ามาประกอบจึงใช้วงดนตรีทั้งวงปี่พาทย์ และวงดนตรีสากลมาประกอบการแสดง การบรรเลงจึงมีทั้งบรรเลงประกอบการขับร้อง และบรรเลงประกอบฉากเหตุการณ์ อารมณ์ตัวละครเช่นเดียวกับละครพูดล้วน ๆ
            วิธีแสดง ดำเนินเรื่องด้วยการพูด การขับร้องเป็นเพียงส่วนประกอบ เช่น ตอนนางเอกรำพึง ตอนพระเอกคิดถึงนางเอก เป็นต้น ถ้าตัดบทร้องออกก็ไม่ทำให้ละครขาดความสมบูรณ์แต่อย่างใด
            เรื่องที่แสดง เรื่องแรกคือเรื่องปล่อยแก่ ของนายบัว วิเศษกุล ซึ่งได้แต่งให้กับทวีปัญญาสโมสร เล่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงแทรก และทรงเรียกว่า ละครพูดแกมลำและบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์เองคือเรื่อง ผิดใจได้ปลื้ม เป็นต้น
(ยังหาตัวอย่างที่เหมาะสมไม่ได้)

ละครสังคีต
            ละครสังคีต คือละครพูดสลับร้องรำทำเพลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ทรงเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น ละครสังคีต ละครชวนหัวสลับลำ ละครพูดสลับลำ  จะมีลักษณะใกล้เคียงกับละครร้อง แตกต่างจากละครร้อง คือ ละครสังคีตถือเอาทั้งบทร้อง และบทเจรจามีความสำคัญเท่ากัน เพราะต้องสื่อความต่อกัน จะตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไม่ได้
            โรงแสดง จัดแสดงบนเวทีมีการจัดฉาก และเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง
            ผู้แสดง ใช้ทั้งชาย และหญิง
            การแต่งกาย แต่งตามลักษณะ และสภาพของตัวละครในเรื่อง และตามเหตุการณ์ในเรื่องที่แสดง
ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม ใช้ขลุ่ยแท้ปี่ เพิ่มซออู้
วิธีแสดง ความสำคัญของละครสังคีตอยู่ที่ความไพเราะของเพลง มีตัวตลกประกอบ มีความงดงามของการแสดงหมู่ มีการแสดงตลกล้อเลียน และแทรกบทโลดโผน มีฉากประกอบที่งดงามตามเรื่องราวที่แสดง มีการแต่งตัวที่สวยงาม
เรื่องที่แสดง ส่วนใหญ่เป็นบทพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๖ เช่น เรื่อง วั่งตี่ วิวาห์พระสมุทร หนามยอกเอาหนามบ่ง และ มิกาโด เป็นต้น
          ละครสังคีตเรื่องวิวาห์พระสมุทร      





การแสดงที่เป็นเรื่องราวของไทย มีหลายประเภท ที่จัดเป็นมหรสพไทย มีความเป็นเอกลักษณ์และมีแบบแผนการแสดงเป็นของตนเอง นิยมเล่นสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน บางประเภทถือกำเนิดจากการละเล่นของไทยหลายอย่างนำมาผสมผสานเป็นการแสดง   ที่สำคัญการแสดงเหล่านี้จะพบว่ามีการนำเอางานศิลปกรรมไทยหลายสาขามาสร้างสรรค์ร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ดนตรีฯลฯ ศิลปะการแสดงเหล่านี้ด้วยความที่มีวิธีการนำเสนอที่ผู้ชมพบเห็นความงดงามของานศิลปะสาขาต่างเข้าร่วมด้วยจึงจัดเป็นการแสดงประเภทมหรสพไทยที่สำคัญได้แก่
                         ๑.     โขน
                         ๒.     หนังใหญ่
                         ๓.     หนังตะลุง
                         ๔.     หุ่น
โขน
           
โขนเป็นศิลปะการแสดงของไทยที่เข้าใจว่าถือกำเนิดในราชสำนักโดยมีเหล่ามหาดเล็กในวังหลวงเป็นผู้แสดง เดิมนิยมแสดงในงานสำคัญของหลวง โขน สันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากอิทธิพลการแสดง ๓ ประเภท คือ
           

. การแสดงกระบี่กระบอง หรือการต่อสู้แสดงการใช้อาวุธ การแสดงชุดนี้อาศัยศิลปะการต่อสู้ในเชิงกระบี่กระบอง พลอง และอาวุธอื่น ๆ เช่น ดาบ ไม้สั้น ดั้ง หอก ทวน ฯลฯ  สันนิษฐานว่าโขนนำเอาลีลาการต่อสู้การหลบหลีกจากการแสดงดังกล่าวมาใช้ในการแสดงโขน
โดยเฉพาะตอนยกรบ
          











  . หนังใหญ่ โขนนำเอาลีลาการเต้นประกอบการเชิดหนังใหญ่ และการเต้นตามจังหวะของดนตรีปี่พาทย์ที่ตีประกอบ มาใช้ประกอบท่าเต้นของโขน นำเอาการพากย์การเจรจาของหนังใหญ่มาประกอบการพากย์การเจรจาการแสดงโขน
         
. การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เป็นการแสดงในพิธีอินทราภิเษก โดยแบ่งผู้แสดงออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายอสูรกับฝ่ายเทวดา ให้ผู้แสดงแต่งกายเป็นฝ่ายอสูรกับฝ่ายเทวดา เชื่อว่าโขนนำรูปแบบการแต่งกายการเล่นชักนาค          ดึกดำบรรพ์มาใช้ในการแสดงโขน

พัฒนาการของการแสดงโขน
            โขนเมื่อนิยมเล่นกันมาหลายยุคหลายสมัยจึงมีการนำเอาศิลปะการแสดงหลายแขนงมาปรับปรุง ทำให้มีวิวัฒนาการด้านการแสดงโขนที่สวยงามวิจิตร ทำให้เกิดรูปแบบการแสดงโขนประเภทต่างๆ ขึ้น ดังนี้
๑.      โขนกลางแปลง คือการแสดงโขนในที่โล่ง แสดงบนพื้นสนาม หรือพื้นดินโล่ง ไม่มี
การสร้างโรงสำหรับแสดง เชื่อกันว่าโขนกลางแปลงเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในงานฉลองพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกธิราช โดยให้โขนวังหลวงเล่นเป็นฝ่ายพระราม ส่วนโขนวังหน้าเล่นเป็นฝ่ายทศกัณฐ์  โขนกลางแปลงนิยมแสดงตอนยกรบ ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์ และเจรจา ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดง แต่เดิมไม่มีการขับร้องประกอบ ในปัจจุบันพบว่ามีการนำเอาการขับร้องเข้ามาประกอบเพื่อเล่าเรื่อง เช่นเดียวกับการพากย์


การบรรเลงโหมโรงก่อนแสดงโขนกลางแปลง

การแสดงโขนกลางแปลงใช้วงปี่พาทย์ ๒ วง

ตัวอย่างโขนกลางแปลงตอนยกรบ ตรวจพลฝ่ายพลับพลา

การแสดงโขนนั่งราวบนเวทีละครนอกในยุคก่อน
๒.    โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว หรือโขนนอนโรง  มีวิธีการแสดงลักษณะเดียวกับโขนกลางแปลง เพียงแต่มีการปลูกโรง(เวที)
การแสดงโขนนั่งราวในปัจจุบัน
ขึ้นมาสำหรับแสดง เวทีมีหลังคา      ด้านหลังมีม่านกั้น หรือทำเป็นฉากกั้นด้านข้างสองข้างเจาะเป็นประตู หรือทางเข้าออก กลางเวทีโขนมีราวไม้ไผ่พาดตามความยาวของโรงโขน เมื่อแสดงตามบทเพื่อแนะนำตัว ตัวโขนจะนั่งบนราวไม้ไผ่ที่สมมติเป็นเตียงหรือที่นั่งประจำตำแหน่งของตนเอง ราวไม้ไผ่จะตั้งไว้ตรงกลางเวทีผู้แสดงจึงสามารถเดินได้รอบราวไม้ไผ่ ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์เจรจา ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดง ไม่มีบทร้อง นิยมเล่นตอนยกรบเช่นเดียวกับโขนกลางแปลง เนื่องจากวงปี่พาทย์ต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงตลอดทั้งเรื่อง จึงนิยมใช้วงปี่พาทย์มาบรรเลงสลับกัน ๒
วง หากจัดให้ตั้งวงปี่พาทย์อยู่หัวโรงวงหนึ่ง ท้ายโรงวงหนึ่ง ก็จะเรียกว่า วงหัววงท้าย หากจัดให้ตั้งอยู่ด้านซ้ายของโรงวงหนึ่ง และด้านขวาของโรงวงหนึ่ง ก็จะเรียกว่า วงซ้าย วงขวา

การแสดงโขนนั่งราวเรื่องรามเกียรติ์ ชุดสุครีพถอนต้นรัง
เป็นตัวอย่างการแสดงแบบเดิมที่ไม่มีการขับร้อง
ใช้การพากย์ (พลับพลาหรือเมือง) และเจรจาแบบด้น
ประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์ ๒ วง
            โขนประเภทนี้แต่เดิม ก่อนวันแสดงจริงในช่วงบ่ายมีการบรรเลงวงปี่พาทย์โหมโรง และจับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามหลงเข้าสวนพวาทองขององค์พระพิราพ ต่อสู้กับบริวารขององค์พระพิราพ บริวารองค์พระพิราพแพ้ เมื่อพระรามพระลักษณ์ เดินผ่านสวนไปแล้ว องค์พระพิราพกลับจากหาอาหารทราบเรื่องจึงโกรธออกติดตามหาพระราม แสดงถึงตอนนี้ก็จบการแสดง จะเป็นเวลาเย็น นักแสดงโขนทุกคนจึงต้องนอนค้างที่โรงโขนหนึ่งคืน จึงมีการเรียกโขนประเภทนี้อีกอย่างว่าโขนนอนโรง
           
เวทีแสดงโขนหน้าจอในยุคก่อน
. โขนหน้าจอ เรียกตามการแสดงโขนที่นำเอาจอหนังใหญ่มาดัดแปลงเป็นฉากด้านหลังการแสดงโขนโดยเจาะจอให้มีประตูทางเข้าออกของตัวโขนทั้งด้านซ้าย และด้านขวา แต่เดิมการแสดงหนังใหญ่ในช่วงบ่ายก่อนมีการแสดงหนังใหญ่ 
เวทีแสดงโขนหน้าจอในปัจจุบัน
นิยมจัดให้มีการแสดงสั้นๆ หน้าจอหนังใหญ่เรียกว่า
หนังจับระบำหน้าจอต่อมาได้นำเอาผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องแบบละครไปแสดงระบำก่อนแสดงหนังใหญ่ และได้มีวิวัฒนาการให้นักแสดงแต่งกายโขนออกมาแสดงสลับกับการเชิดหนังใหญ่ เรียกว่า หนังติดตัวโขนภายหลังจึงมีการนำเอาโขนมาแสดงโดยขึงจอหนังใหญ่ไว้ ภายหลังมีการปรับจอให้เป็นฉากด้านหลังของการแสดงโขน มีการวาดภาพปราสาทราชวังด้านซ้ายมือของจอ มีเตียงหรือตั่งใหญ่วางไว้ หากตัวละครฝ่ายยักษ์ หรือฝ่ายทศกัณฐ์ออกมาก็จะมานั่งประจำด้านนี้ ส่วนด้านขวามือของจอวาดเป็นภาพที่ประทับชั่วคราวของฝ่ายพระราม เรียกว่าฝ่ายพลับพลา ตัวละครฝ่ายมนุษย์ เทวดา ลิงออกมาแสดงก็มานั่งประจำด้านนี้ ตรงกลางจอเป็นผ้าขาวล้วน มีลักษณะโปร่งบาง วงปี่พาทย์ตั้งอยู่ด้านในฉาก เมื่อมีการนำเอาจอหนังใหญ่มาปรับปรุงอย่างนี้จึงเรียกโขนประเภทนี้ว่า โขนหน้าจอ

การแสดงโขนหน้าจอเรื่องรามเกียรติ์ ชุด ท้าวมาลีวราชว่าความ

           
การแสดงท่ารำประกอบบทร้อง
ตามแบบละครในของโขนโรงใน
. โขนโรงใน เป็นการแสดงที่มีการผสมผสานกันระหว่างการแสดงโขนกับละครใน จึงมีการแสดงทั้งท่าเต้นแบบโขน และท่ารำตามแบบละครใน มีการพากย์การเจรจาอย่างโขน เพิ่มบทร้องประกอบท่ารำที่อ่อนช้อยงดงามตามแบบละครใน บทขับร้องมีความไพเราะแบบละครในมีลักษณะเป็นเพลงใช้บรรยายความ และประกอบกิริยาอาการของตัวโขน

      
การแสดงโขนฉากในโรงละคร
. โขนฉาก สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีการคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขน ซึ่งโขนทั้ง ๔ ประเภท ที่กล่าวมาแล้วไม่มีการสร้างฉากประกอบ การแสดงมีการดำเนินเรื่องติดต่อกันไปให้ผู้ชมจินตนาการฉากเอาเอง โขนฉากเมื่อมีการสร้างฉากประกอบการแสดงจึงนำมาแสดงบนเวทีเหมือนกับละครดึกดำบรรพ์ มีวิธีการแสดงตามแบบโขนโรงใน คือมีทั้งท่าเต้น และท่ารำ มีการพากย์เจรจา การขับร้อง มีการบรรเลงประกอบการแสดงทั้งที่ใช้เพลงหน้าพาทย์ และประกอบการขับร้อง มีการเปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่องและเหตุการณ์ที่แสดง
            ปัจจุบันการแสดงโขนไม่ว่าจะเป็นโขนกลางแปลง โขนโรงนอก โขนหน้าจอ โขนฉาก จะยึดแบบแผนการแสดงเช่นเดียวกับโขนโรงใน นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ โดยตัดออกมาแสดงเป็นตอน ๆ เรียกว่า ชุดเช่น การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอย ขุดศึกนาคบาศก์ ชุดลักสีดา เป็นต้น
การแสดงโขนฉากเรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกมัยราพณ์
มีรูปแบบการแสดงตามแบบโขนโรงใน ที่มีการขับร้องและการแสดงท่ารำ
ประกอบการขับร้อง เมื่อมีการจัดฉาก ใช้เทคนิค แสง สี เสียงเข้ามาประกอบ
จึงได้ชื่อว่าโขนฉาก

การพากย์ และการเจรจาโขน
            เนื่องจากผู้แสดงโขนต้องสวมหน้ากาก เพื่อรับบทบาทเป็นตัวละครในเรื่อง โดยเฉพาะผู้แสดงฝ่ายยักษ์ และลิง ในสมัยโบราณผู้แสดงฝ่ายพระต้องสวมหน้ากากเช่นเดียวกัน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้แสดงฝ่ายพระไม่ต้องสวมหน้ากาก เช่นเดียวกับผู้แสดงฝ่ายนาง แต่ก็ยังไม่มีการเจรจาเอง ดังนั้นการแสดงโขนจึงต้องมีผู้พากย์ผู้เจรจาให้  การพากย์และเจรจา รวมทั้งบทพากย์และบทเจรจาก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
            การพากย์ เป็นการบรรยายความ หรือพรรณนาความต่าง ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บทพากย์แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ เช่น กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุราคนางค์ ในการพากย์นั้นเมื่อพากย์จบหนึ่งบท จะมีเสียงตะโพนตีรับ กลองทัดตีตาม ๒ ครั้ง ตามด้วยเสียงลูกคู่ร้องรับด้วยคำว่า เพ้ยการพากย์ นิยมแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ และตัวอย่างการพากย์-เจรจาโขน
(ดูจากคลิปนี้ไปก่อนเพื่อรอตัวอย่างที่ชัดเจน)

            . พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา เป็นการกล่าวถึงตัวละครในเรื่องขณะออกนั่งหน้าท้องพระโรง กรณีที่กล่าวถึงพระรามจะเรียกว่าพากย์พลับพลา
            . พากย์รถ ใช้ในขณะที่ตัวละครเดินทางและใช้พาหนะในการเดินทางต่าง ๆ เช่น ราชรถ ช้าง ม้า ฯลฯ เป็นต้น
            . พากย์ชมดง ใช้ตอนที่มีการชมธรรมชาติ ชมนกชมไม้ในป่า ในการพากย์ชมดงนี้ จะมีลักษณะต่างจากพากย์เมือง และพากย์รถ คือ ตอนต้นเป็นการร้องเพลงชมดงใน แล้วลงท้ายด้วยการพากย์
            . พากย์โอ้ ใช้ตอนที่ตัวละครอยู่ในอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ ต่างจากการพากย์อื่น ๆ   คือ ตอนต้นเป็นการพากย์ ลงท้ายด้วยวงปี่พาทย์รับในทำนองโอ้ปี่ใน ตามด้วยเสียงตะโพน กลองทัด และลูกคู่รับด้วยคำว่า เพ้ย
            . พากย์บรรยาย ใช้บรรยายความ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น บรรยายราชสาสน์ บรรยายคำสั่งสอน บรรยายความ ฯลฯ เป็นต้น
            . พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทพากย์ที่มีเนื้อหาที่ไม่สามารถจัดเข้ากับบทพากย์อื่นดังกล่าวข้างต้นได้ เช่น บทพากย์พิเศษที่ใช้ในการไหว้ครู เป็นต้น แต่บางครั้งก็มีผู้นำเอาพากย์เบ็ดเตล็ดไว้รวมกับพากย์บรรยาย 
ตัวอย่างการเจรจาโขน 
ในช่วงที่มีการพรรณนาความคิดตัวละคร
การกระทำ หรือพฤติกรรมตัวละครจะใช้ทำนองด้น 
ช่วงใดตัวละครโต้ตอบกันเป็นเจรจาแบบกระทู้ หรือโต้ตอบ         

           การเจรจา ใช้เป็นการโต้ตอบกันของตัวละครในเรื่อง      บทเจรจาแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร่ายยาว มีการลงรับสัมผัสกันเรื่อยไป แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
            . เจรจาแบบทำนอง หรือแบบด้น ใช้ประกอบการบรรยายเหตุการณ์ หรือเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับการพากย์เพียงแต่เจรจาแบบด้น หรือทำนอง บทจะเป็นคำพูดของตัวละครเอง เช่น ตัวละครกำลังทำอะไร จะไปไหน ตัวอย่างเช่น
            “ ฝ่ายพระลักษณ์สุริยวงศ์ได้ทรงฟังกำลังเคือง เยื้องขยับจับพระแสงศร แล้วภูธรมาขยับยั้งตั้งสติ ทรงดำริว่าไอ้นี่มีรับสั่งใช้ให้อาสา หรือจะเป็นกลมายามาล่อลวง จำกูจะตอบขู่ดูทีท่วงกิริยา
            . เจรจาแบบคำพูด หรือกระทู้ ใช้ในโอกาสที่ตัวละครพูดจาโต้ตอบกัน ตัวอย่างเช่น
            “ว่าพลางทางยกหัตถ์ดัชนีขึ้นชี้หน้า ว่าเหม่ ไอ้หนุมานกูแลดูอยู่นานจนเต็มแปลก เมื่อแรกยกออกมานึกว่าใคร ครั้นพอเข้ามาใกล้จึงรู้จัก เหตุไฉนใยไปตีประจบคบยักษ์ ทำฮักฮึก ยกออกมาเป็นกระบวนศึกไม่เกรงกลัว ตั้งตัวเป็นนายทัพกลับจลาจลตีพลลิง เฮ้ย! มึงจะเป็นกบฎจริงจริง เชียวรึวะ ไอ้หนุมาน
            ในการพากย์ เจรจา นิยมใช้ผู้ชายเป็นผู้พากย์เจรจา แม้ว่าในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการใช้ผู้หญิงพากย์เจรจาตัวละครฝ่ายนาง ก็ไม่ไพเราะเท่าการใช้ผู้ชายพากย์เจรจาโขน ผู้พากย์เจรจาต้องใช้อย่างน้อย ๒ คน เมื่อพากย์เจรจาจบกระบวนความ ผู้พากย์ต้องทำหน้าที่บอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงประกอบการแสดง เรียกว่า บอกหน้าพาทย์หากมีการขับร้อง ผู้พากย์เจรจาต้องบอกบทร้องประกอบไปด้วย
            ตัวละครในการแสดงโขนประกอบด้วยตัวละคร ๔ ประเภท คือ
           
การแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง
หรือแต่งเลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์
. ตัวละครฝ่ายพระ ได้แก่พระราม พระลักษณ์ เทพชั้นสูง เช่น พระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม ฯลฯ เทวดา หรือเทพบุตร ทั้งหลาย นิยมแต่งกายยืนเครื่องพระ แต่เดิมตัวละครฝ่ายพระจะสวมหน้ากาก ในปัจจุบันไม่นิยมสวมหน้ากากใช้การแต่งหน้าแทน
            . ตัวละครฝ่ายนาง ได้แก่นางสีดา เหล่านางฟ้า นางเทพอัปสรทั้งหลาย ไม่สวมหน้ากาก แต่งกายยืนเครื่องนาง
            


การแต่งกายยืนเครื่องพระแบบยักษ์
การนุ่งผ้าจะนุ่งแบบจีบโจงก้นแป้น
            ๓. ตัวละครฝ่ายยักษ์ ได้แก่ ทศกัณฐ์  ตัวละครที่เป็นยักษ์ทั้งชาย และหญิง ฝ่ายหญิงได้แก่นางสูรปนขา ถ้าเป็นยักษ์ฝ่ายหญิงจะแต่งยืนเครื่องนาง ยักษ์ชายจะแต่งยืนเครื่องพระ
            
ภาพด้านหลังของการแต่งกายยักษ์
จะเห็นมีผ้าปิดก้นปิดทับการนุ่งผ้าแบบก้นแป้น















การแต่งกายของลิงมีการนุ่งผ้าแบบยักษ์
เสื้อสมมติว่าเป็นสีผิว ลิงทุกตัวจึงปักลายทักษิณาวัตร
บนเสื้อเช่นเดียวกันสมมติว่าเป็นขนลิง
. ตัวละครฝ่ายลิง ได้แก่บรรดาเสนาลิง สิบแปดมงกุฎ ทหารเอกเช่น หนุมาน สุครีพ เป็นต้น จะแต่งกายยืนเครื่องเช่นกันแต่เสื้อที่สวมจะสมมติเป็นผิวกายของลิง ปักเป็นลาย ทักษิณาวัตรสมมติว่าเป็นขนตามตัวลิง
 
ภาพแสดงการแต่งกายด้านหลังตัวละครฝ่ายลิง
จะเห็นผ้าปิดก้นและหางลิง
           






สัญลักษณ์การแสดงโขนที่ขาดไม่ได้คือผู้แสดงที่ต้องสวมหัวโขน ปัจจุบันคือ ตัวละครฝ่ายยักษ์ และลิง สำหรับตัวละครที่ไม่สวมหัวโขน คือฝ่ายพระ ฝ่ายนาง ตัวฤษี และตัวตลก หรือจำอวด ตัวละครทุกตัวทั้งที่สวมหัวโขน และไม่สวมหัวโขนต้องมีเครื่องประดับศีรษะที่เรียกว่า ศิราภรณ์ฝ่ายพระเรียกว่า ชฎาฝ่ายนางเรียกว่ามงกุฎบางครั้งหากไม่ใช้มงกุฎก็ใช้รัดเกล้า          กระบังหน้า ซึ่งศิราภรณ์เหล่านี้มีลักษณะยอดประดับที่แตกต่างกันออกไป การดูความแตกต่างของตัวละครจึงสามารถดูได้จากความแตกต่างของสีเสื้อผ้า ศิราภรณ์ที่ตัวละครใช้ ลักษณะตา ปาก เขี้ยว อาวุธที่ใช้ประจำกาย และสีหัวโขน จะทำให้รู้จักว่าตัวละครเป็นใคร
            การแสดงโขนนอกจากสัญลักษณ์ที่เป็นหัวโขนองค์ประกอบในการแสดงที่สำคัญขาดไม่ได้ คือ
๑. ต้องมีวรรณกรรมสำหรับแสดง แต่เดิมโขนนิยมแสดงทั้งเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา เช่นเดียวกับละครในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันคงนิยมแสดงเพียงเรื่องเดียวคือ รามเกียรติ์
๒. มีนักแสดงรับบทบาทเป็นตัวละครในเรื่องโดยให้สวมหน้ากากเรียกว่าหัวโขนทั้งพระ ยักษ์ ลิง ปัจจุบันตัวละครประเภทยักษ์ และลิงยังคงสวมหน้ากาก มีการแต่งกายที่เรียกว่าแต่งยืนเครื่อง หรือแต่งเลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ บอกให้รู้ถึงประเภทของตัวละครว่า เป็น พระ นาง ยักษ์ หรือลิง
๓. มีผู้พากย์ เจรจา และผู้ขับร้อง การพากย์เจรจานิยมขับเป็นทำนองมีจุดประสงค์เพื่อเล่าเรื่องราว พรรณนาความ เหตุการณ์ ในปัจจุบันเพิ่มการขับร้องเข้าไปด้วยจึงต้องมีผู้ขับร้องทำหน้าที่ขับร้องพรรณนาความเช่นเดียวกับการพากย์เจรจา
๔. มีดนตรีประกอบการแสดง ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคือวงปี่พาทย์จะเป็นวงเครื่องห้า เครื่องคู่ เครื่องใหญ่ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ดนตรีจะบรรเลงประกอบการเคลื่อนไหวของตัวละครในเรื่องที่แสดงออกในท่าเต้น ประกอบเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การแปลงกาย การแสดงอิทธิฤทธิ์ การต่อสู้ เป็นต้น เมื่อมีการขับร้องเข้ามาจึงมีการบรรเลงประกอบการขับร้องด้วย
ภาพแสดงวิธีการฝึกหัดโขนเบื้องต้น
บนซ้าย แสดงการตบเข่าเพื่อให้รู้จังหวะ
ล่างซ้าย การฝึกถองสะเอว เพื่อการเคลื่อนไหวลำตัว
บนขวา การฝึกเต้นเสาเพื่อให้กำลังขาแข็งแรง และเต้นได้ตามจังหวะ
ล่างขวา การถีบเหลี่ยม ให้ขางมีลักษณะได้เหลี่มงดงาม


ตัวละครฝ่ายลิงต้องฝึกการฉีกขา ตีลังกา เพิ่ม


ตัวอย่างการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด จองถนน
ในฉากนี้จะเห็นตัวอย่างการพากย์เมือง




             ในการชมการแสดงโขนให้ได้รับรสของความสนุกสนาน เข้าใจในเรื่องราวที่แสดงได้ดีผู้ชมต้องรู้เรื่องราวที่นำมาแสดงในแต่ละตอนมาโดยย่อ อาจฟังจากการบรรยายก่อนเริ่มการแสดง จากนั้นจึงฟังความไพเราะของบทเพลงที่พรรณนาความเหตุการณ์ที่กำลังแสดง ฟังความไพเราะของการพากย์การเจรจา ชมท่าทางการแสดงออกที่เป็นท่าเต้น ท่ารำ ประกอบการขับร้อง การพากย์การเจรจา และการบรรเลงดนตรีปี่พาทย์ ชมความงดงามของเครื่องประดับเครื่องแต่งกาย ตลอดจนความงดงามของฉาก การใช้เทคนิคแสงสีกรณีที่เป็นโขนฉาก

               
หนังใหญ่

จิตรกรรมฝาผนัง
แสดงให้เห็นว่าเป็นการละเล่นที่มีมานาน
            หนังใหญ่จัดเป็นการละเล่นของหลวงในสมัยโบราณที่เป็นที่นิยมมากกว่ามหรสพอื่นๆ งานที่นำเอาหนังใหญ่มาแสดงจึงต้องเป็นงานที่ใหญ่จริงๆ  ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ยังไม่ปรากฏชัดเจน สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะในรัชกาลนี้ได้ปรากฏหลักฐานว่าทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระมหาราชครูแต่งเรื่อง สมุทรโฆษชาดกคำฉันท์ขึ้นเพื่อใช้เล่นหนังใหญ่สำหรับฉลองพระนคร

ลักษณะ และประเภทของตัวหนังใหญ่
           
หนังสัตว์ที่ทำความสะอาดแล้วนำมาตากลมให้แห้ง
ในการทำรูปหนังใหญ่นิยมใช้หนังโค หรือหนังควายมาทำตัวหนัง โดยทำความสะอาดตากให้แห้ง ตามกรรมวิธีแบบสมัยโบราณ ให้หนังมีความบางใส จึงนำมาวาดลวดลายลงไป ประกอบด้วยตัวละคร และฉากที่เป็นลวดลายพื้นหลังตัวละคร จากนั้นจึงฉลุลวดลายตามที่วาดไว้ ระบายสีให้มีความ
การแกะสลักตามลวดลายที่วาดไว้
สวยงาม โดยทั่วไปหนังใหญ่มีขนาดความสูงประมาณ ๑.๕
ถึง ๒ เมตร กว้างประมาณ ๑ เมตร ใช้ไม่ไผ่ทาบสองข้างเรียกว่าไม้ตับ เพื่อไม่ให้ตัวหนังงอ ด้านล่างเหลือด้านไว้ให้คนเชิดหนังจับตัวหนังขึ้นเชิดได้สะดวก  ตัวหนังใหญ่แบ่งออกเป็น ๗ 
วิธีการใช้ลิ่มตอก เป็นอีกวิธีในการแกะสลักภาพหนังใหญ่
ประเภท คือ
           










๑. หนังเจ้า หรือหนังครู มี ๓ ภาพ คือ ภาพพระฤษี พระอิศวร และพระนารายณ์ ไม่นำมาเชิดเป็นตัวละครในเรื่องที่แสดง จะใช้สำหรับในการทำพิธีไหว้ครู(เบิกหน้าพระ) ทั้งสามภาพถูกสร้างขึ้นมาโดยตัวหนังจะมีลักษณะพิเศษ เช่น หนังภาพพระฤษีนิยมทำจากหนังเสือ หรือหนังหมี ภาพพระอิศวร และพระนารายณ์นิยมนำเอาหนังวัวหรือหนังควายที่ตายผิดปกติ(ตายพราย) เช่น คลอดลูกตาย ฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตายมาทำเป็นภาพทั้งสอง



๒. หนังเฝ้า หรือหนังไหว้ เป็นหนังภาพเดี่ยว ลักษณะหน้าเสี้ยวอยู่ในท่านั่งเข้าเฝ้า หรือท่าพนมมือไหว้ หากถืออาวุธจะถือให้ปลายของอาวุธส่งมาด้านหลัง มีความสูงประมาณ ๑ เมตร
          



๓. หนังคเนจร หรือหนังพเนจร หรือหนังเดิน เป็นภาพตัวละครภาพเดี่ยวหน้าเสี้ยวอยู่ในท่าเดิน จะเป็นภาพพระ นาง ลิง หรือยักษ์ก็ได้ มีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร
         







๔. หนังง่า หรือหนังโก่ง หรือหนังแผลง เป็นภาพตัวละครภาพเดี่ยวหน้าเสี้ยวแสดงท่าเงื้อง่าอาวุธ หรือทำท่าโก่งศร หรือแผลงศร มีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร
            



. หนังเมือง หรือหนังปราสาท เป็นตัวหนังที่มีขนาดใหญ่กว่าหนังประเภทอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว  ในภาพอาจมีตัวละครตัวเดียว หรือหลายตัวก็ได้ ที่สำคัญต้องมีภาพปราสาทราชวัง หรืออาคารสถานที่ประกอบอยู่ในภาพด้วย มีขนาดความสูงประมาณ ๒ เมตร อาจเรียกตามภาพที่ปรากฏในตัวหนังก็ได้ เช่น ตัวละครอยู่ในกิริยาเล้าโลมกันก็เรียกว่าหนังปราสาทโลม หรือตัวละครกำลังออกว่าราชการหรือประชุมปรึกษากันก็เรียกว่าหนังปราสาทพูด เป็นต้น
         

. หนังจับ เป็นภาพตัวละครกำลังต่อสู้กัน หรือกำลังไล่จับกัน หากทำท่าต่อสู้กันตัวละครจะแสดงท่าทางรบกันในท่าทางต่าง ๆ หรือเป็นภาพตัวละครกำลังไล่จับกัน เช่นภาพ หนุมานไล่จับนางสุพรรณมัจฉา ลิงขาวกับลิงดำกำลังต่อสู้กัน บางครั้งก็จะเรียกหนังที่ต่อสู้ไล่จับกันว่า หนังเตียว
            


. หนังเบ็ดเตล็ด เป็นหนังที่เป็นภาพพิเศษไม่สามารถจัดเข้าไปรวมกับหนังประเภทใดประเภทหนึ่งได้ เช่น ภาพหนุมานกับองคตเดินทางโดยการเหาะเหินเดินอากาศ หรือ ภาพพระรามกำลังประคองร่างพระลักษณ์ที่ถูกศรนาคบาศ เป็นต้นจากภาพตัวอย่างเป็นภาพตัวละครฝ่ายพระทรงราชรถ

องค์ประกอบในการแสดงหนังใหญ่
            ในการแสดงหนังใหญ่เพื่อให้การแสดงดำเนินไปอย่างสนุกสนาน นอกจากตัวหนังใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบในการแสดง แล้วยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอืนๆ ดังนั้น นี้
           
ผู้เชิดหนัง หรือคนเชิดหนัง ในการแสดงหนังใหญ่หนึ่งคณะจะใช้คนเชิดหนังประมาณ ๑๐ คน แต่งกายให้รัดกุม เพื่อจะได้ทำหน้าที่เชิดตัวหนัง และเคลื่อนไหวประกอบการเชิดหนังไปตามลักษณะของตัวละครในเรื่อง โดยแสดงออกด้วยการเต้นไปตามจังหวะเพลงใช้ลำตัว และขาเป็นส่วนสำคัญในการเต้นตามจังหวะ สำหรับมือจะจับไม้ตับที่ทาบทับบนตัวหนัง แล้วยกชูตัวหนังให้สูงระดับศีรษะผู้เชิด ขยับแขนให้ดูเหมือนตัวละครในภาพกำลังเคลื่อนไหวเหมือนจริงเมื่อต้องกับแสงไฟ
            คนทอดหนัง หรือ ผู้จัดหนัง (ไม่มีภาพ) เป็นผู้ที่รู้เรื่องราวในการแสดงดีว่าเล่นตอนไหน มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ตัวละครประกอบด้วยใครบ้าง มีกี่ตัว ตัวไหนออกก่อน และออกทีหลัง จึงต้องทำหน้าที่จัดเรียงตัวหนังไว้ให้เป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้เชิดสามารถหยิบจับตัวหนังออกไปเชิดได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด และสะดวกรวดเร็ว
           
ในภาพแสดงให้เห็นองค์ประกอบที่เป็นจอหนัง คนพากย์-เจรจา
และดนตรีอยู่ด้านหน้าจอ มีการเชิดหน้าจอเพื่อให้คนดู
ได้เห็นลีลาการเต้นของผู้เชิดประกอบการเชิดตัวหนัง
หากเชิดด้านในจอคนดูก็จะเห็นเงาตัวหนังทาบบนจอ
             จอหนัง การแสดงหนังใหญ่ต้องใช้จอหนังประกอบในการแสดง ไม่มีการปลูกโรงสำหรับแสดงอย่างโขน และละคร ในการขึงจอหนัง จะมีการปลูกเสาไว้ ๔ ต้น เรียงเป็นแถวหน้ากระดาน ให้สามารถรับน้ำหนักของจอได้เต็มที่ แล้วนำผ้าขาวซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ด้านข้างซ้าย- ขวา เป็นผ้าขาวดิบอย่างหนา ส่วนตรงกลางเป็นผ้าขาวโปร่งบาง มีความสูง ๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ริมผ้าขลิบริมให้ดูเรียบร้อย ด้วยผ้าสีแดง หรือสีน้ำเงิน หรือผ้าลายดอกสีสดใส นำมาขึงให้ตึงบนเสา ๔ ต้น ด้านล่างห่างจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร ต่อชายผ้าให้คลุมถึงพื้นดิน ด้วยผ้าลายดอก หรือสีล้วนเช่นเดียวกับผ้าขลิบริมของจอหนัง ทั้งนี้สามารถใช้เป็นส่วนเข้าออกของคนเชิดหนังได้ นอกจากจะเข้าออกทางด้านขวา และด้านซ้ายของจอหนัง การต่อชายผ้าลงมาก็เพื่อต้องการความสวยงาม และไม่ให้ผู้ชมมองเห็นด้านในจอ ซึ่งจัดให้เป็นส่วนที่ใช้เก็บตัวหนัง และที่พักคนเชิด
            ด้านหลังจอจะใช้เสื่อ หรือผ้ากันเป็นรูปครึ่งวงกลมปักเสาไว้ตรงกลาง ซึ่งเสาจะโน้มมารั้งติดไว้ด้านหน้าจอ แล้วใช้ผ้าคลุมเหมือนหลังคา เพื่อใช้บังแสงไฟไม่ให้สาดออกไปด้านหลัง ให้แสงไฟสาดจับไปด้านหน้าให้มากที่สุด ผ้าที่ใช้คลุมเรียกว่า ผ้าบังเพลิงข้างในนอกจากจะเป็นที่พักของคนเชิด ที่เก็บเรียงตัวหนัง ยังมีการปลูกร้านเล็ก ๆ ๒ ร้าน ซ้าย-ขวา ใช้สำหรับก่อกองไฟเพื่อให้แสงสว่าง เรียกว่า ร้านเพลิงจะสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร
            คนพากย์ เจรจา หนังใหญ่จะใช้ผู้พากย์ เจรจา เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยใช้อย่างน้อย ๒ คนเช่นกัน ผู้พากย์ เจรจา ต้องเป็นผู้มีความชำนาญ จดจำบทพากย์เจรจาได้แม่ยำเช่นเดียวกับการพากย์โขน การพากย์เจรจาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการแสดงหนังใหญ่ การเล่าเรื่อง หรือดำเนินเรื่องจึงอยู่ที่การพากย์ เจรจา จะรู้แบบแผน จังหวะ ระยะเวลาในการดำเนินเรื่องและการพากย์ว่าตอนไหนจะให้มีการแทรกบทตลกเพื่อให้คนดูสนุกสนาน  ลักษณะบทพากย์ เจรจา และวิธีการพากย์ เจรจา ก็จะมีลักษณะ และดำเนินการเช่นเดียวกับการพากย์ เจรจา โขน
            เครื่องดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ประกอบการแสดง จะใช้เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ขึ้นอยู่กับโอกาส และความต้องการของเจ้าของงาน เครื่องดนตรีที่ขาดไม่ได้ คือ ปี่กลาง กลองติ๋ง และโกร่ง การตั้งวงปี่พาทย์จะตั้งไว้ด้านหน้าจอหนังใหญ่ หันหน้าเข้าหาจอหนังเพื่อจะได้เห็นคนเชิด และสามารถบรรเลงประกอบการแสดงได้อย่างเหมาะสม วงดนตรีจะตั้งห่างจากจอหนังประมาณ ๔ เมตร ส่วนโกร่งจะอยู่ด้านหลังจอ ให้ผู้เชิดเป็นผู้ตีประกอบการเต้นเอง

วิธีการแสดงหนังใหญ่
            การแสดงหนังใหญ่สามารถนำมาแสดงได้ทั้งกลางวัน และกลางคืนขั้นตอนจึงมีความแตกต่างกันไปบ้าง ในการแสดงหนังใหญ่ตอนกลางวันจะไม่มีพิธีการมากเท่าแสดงในตอนกลาง คืน ขั้นตอนการแสดงหนังใหญ่ มีดังนี้
           
. การไหว้ครู ขั้นตอนนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของคณะ โดยจะนำหนังเฝ้ามาปักไว้ เอาหนังภาพฤษีมาปักไว้ตรงกลาง ขอเงินกำนลจากเจ้าภาพ กับเทียนขี้ผึ้ง ๓ เล่ม ทำพิธีไหว้ครู จุดเทียนบูชาครูหนึ่งเล่มไว้ที่วงปี่พาทย์ จากนั้นวงปี่พาทย์บรรเลงโหมโรง ครูที่ทำหน้าที่บูชาครูกล่าวนมัสการครูตามพิธี แล้วโห่ ๓ ลา ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด จึงเชิดรูปฤษีเข้า นำหนังที่เป็นภาพพระอิศวร พระนารายณ์ออกมาเชิด พากย์บทสรรเสริญครู เรียกว่า พากย์สามตระเมื่อจบการพากย์สามตระ ก็จุดไฟที่ร้านเพลิงให้ลุก คนเชิดจะนำภาพพระแผลงเชิดผ่านเข้าโรง เป็นอันเสร็จพิธีการไหว้ครู หรือ เบิกหน้าพระ
         
ภาพลิงขาวมัดลิงดำพามาเฝ้าพระฤษีใช้ในการแสดง
เบิกโรง ชุดจับลิงหัวค่ำ
. การเบิกโรง จากนั้นมีการจัดการแสดงเบิกโรงชุดสั้น ๆ ชุดจับลิงหัวค่ำ เป็นเรื่องราวของลิงขาวกับลิงดำ เมื่อเบิกโรงเสร็จก็เริ่มเรื่องที่แสดง
         







. เรื่องที่นิยมแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ โดยจัดแสดงเป็นตอน ๆ เรียกว่า ชุดเช่นเดียวกับโขน
           

           
รายการคุณพระช่วยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหนังใหญ่
 และการเชิดหนังใหญ่ลีลาสามัญชน 
จากตัวอย่างมีการนำเอาดนตรีร่วมสมัยมาบรรเลงประกอบการแสดง 

พิธีเบิกหน้าพระ(ไหว้ครู)ก่อนการแสดงหนังใหญ่
ตัวอย่างจากศิลปินสำนักสังคีต กรมศิลปากร

การแสดงเบิกโรง ชุด จับลิงหัวค่ำ
จะเห็นลีลาการเชิดของผู้เชิดแสดงท่าเต้นแบบลิงประกอบการเชิดตัวหนัง
ลักษณะลีลาจะงดงามแบบราชสำนัก

          ปัจจุบันมีการจัดการแสดงหนังใหญ่ของสามัญชนอยู่ ๓ แห่ง คือ หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง  หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี  หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี สำหรับหนังใหญ่วัดขนอนมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวชมทุกวันเสาร์ อาทิตย์ ชม โดยนักเรียนโรงเรียนวัดขนอน เพื่อเป็นการสืบทอด อนุรักษ์ เผยแพร่ศิลป์การแสดงประเภทนี้

หนังตะลุง
         

              หนังตะลุงเป็นการละเล่นแบบเล่นเงา
(Shadow play) เช่นเดียวกับหนังใหญ่ เป็นการแสดงมหรสพที่นิยมเล่นและมีชื่อเสียงทางภาคใต้ (ภาคอื่นก็มีเล่น เช่น ภาคอีสาน แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า) หนังตะลุงของทางภาคใต้มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น หนังควน หนังควาย หนังตะลุง ฯลฯ หนังตะลุงมีประวัติความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนแน่นอน บ้างก็ว่ามีกำเนิดที่จังหวัดพัทลุง โดยชาวบ้านควนมะพร้าว ซึ่งได้แบบอย่างมาจากแขกชวา (อินโดนีเซีย) และมีการเล่นนิยมแพร่หลายไปหลายที่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้นำเข้ามาเล่นถวายรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระองค์ทรงถามว่ามาจากไหน ก็ตอบว่ามาจากพัทลุง ทำให้กลายมาเป็นหนังตะลุงในที่สุด ในขณะที่ก็มีการบอกไว้ว่า มาจากคำว่า หลักตะลุงเพราะเดิมใช้ผ้าขาวขึงเป็นจอผูกไว้กับเสาหลักตะลุง (เสาล่ามช้าง) จึงเรียกว่า หนังตะลุง


ลักษณะตัวหนังตะลุง
            ตัวหนังโดยทั่วไปจะทำจากหนังโค หรือหนังควาย โดยมีกรรมวิธีการทำเหมือนหนังใหญ่ เมื่อแผ่นหนังแห้ดีแล้วก็จะนำมาวาดภาพตัวละครลงไป แกะสลักออกมาเป็นตัวละครไม่มีฉากประกอบ เรียกว่า รูปหนังตะลุงจะมีขนาดเล็กกว่าหนังใหญ่ โดยมีขนาดความสูงประมาณ ๑-๒ ฟุต  เชื่อกันว่าตัวหนังจะมีความศักดิ์สิทธิ์ถ้าทำจากวัว ควาย ที่ตายอย่าพิศดาร เช่นถูกฟ้าผ่าตาย การสร้างรูปหนังตะลุงที่ศักดิ์สิทธิ์จะต้องฤกษ์ยาม เมื่อทำเสร็จจะมีการปลุกเสกอีกครั้ง รูปหนังตะลุงจะทำจากหนังที่มีความโปร่งใสเช่นเดียวกับหนังใหญ่ มีการระบายสีให้สวยงามเช่นเดียวกัน มีไม้ซีกทาบกึ่งกลางลำตัวของรูปตัวหนังเพื่อไม่ให้ตัวหนังงอ ตรงปลายเหลือเป็นด้านให้คนเชิดจับตัวหนังเชิด ที่แขนข้างใดหนึ่งจะเจาะตรงข้อศอกแล้วผูกให้ติดกัน ตรงข้อมือจะผูกไม้ไว้เวลาเชิดจึงสามารถเชิดให้แขนข้างนั้นขยับขึ้นลงได้ บางรูปอาจสามารถทำให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง ตัวตลกจะมีลักษณะพิเศษคือมีเชือกผูกใต้คางเมื่อดึงเชือกก็ทำให้คางของตัวหนังขยับได้ ตัวหนังตะลุงแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
           


. รูปหัวหนัง เป็นหนังชั้นสูงที่จะนำออกมาเชิดก่อน เช่นพระฤษี พระอิศวร กษัตริย์เจ้าเมือง ราชินี ฯลฯ เป็นต้น
         







. รูปเชิด เป็นหนังที่ใช้ประกอบการแสดง เช่น พระ นาง ยักษ์ ประชาชน ตัวละครที่อยู่ในเรื่องราวทั้งหลาย
         







. รูปกาด เป็นตัวหนังที่เป็นรูปเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ สัตว์ต่าง ๆ เรือ และรูปที่เป็นตัวตลกทั้งหลาย





องค์ประกอบการแสดงหนังตะลุง
          องค์ประกอบที่สำคัญในการแสดงหนังตะลุงได้แก่

คนเชิดหนัง คนเชิด หรือผู้เชิดหนังตะลุงจะเรียกกันอีกกย่างว่า นายหนังซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของคณะหนังตะลุงที่นำมาเล่น แต่เดิมจะใช้คนเชิด ๑-๒ คน แต่ในปัจจุบัน เหลือเพียงคนเดียว จะทำหน้าที่เป็นทั้ง คนเชิด คนพากย์เจรจา คนเล่าเรื่องราว ตลอดทั้งเรื่อง จึงต้องเป็นผู้มีความสามารถหลายด้าน สามารถดัดเสียงได้หลายเสียง มีน้ำเสียงดี มีความจำดี มีปฏิภาณไหวพริบดี สามารถแต่งเรื่องขึ้นมาเล่นได้ มีอารมณ์ตลกสนุกสนาน คิดมุขตลกหรือใช้คำพูดได้ดี หนังตะลุงมีจุดเด่นอยู่ที่ความตลก และเรื่องราวที่คนเชิดสามารถผูกเรื่องที่จะเล่นให้ทันตามยุคสมัย ทำให้คนดูถูกใจ

สถานที่แสดง หนังตะลุงจะมีการปลูกโรงขึ้นมาสำหรับแสดงมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยกพื้นขึ้นสูงประมาณ ๒ เมตร มีหลังคาเพิงหมาแหงน ขึงจอผ้าขาวด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังใช้หญ้ามุง หรือใช้ทางมะพร้าวมุงแทน มีบันไดขึ้นลงด้านหลัง ด้านในเป็นที่อยู่ของคนเชิด และนักดนตรี ใต้จอจะมีต้นกล้วยวางไว้สำหรับใช้ปักตัวหนัง มีตะเกียงส่อง (ปัจจุบันใช้ไฟฟ้าแทน) ให้แสดงไฟสาดจับตัวหนังให้เงาของตัวหนังทาบลงบนจอผ้าขาว

เรื่องที่แสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์บ้าง เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ นิทานนิยายพื้นบ้าน ชาดกต่าง ๆ ปัจจุบันนายหนังจะแต่เรื่องราวขึ้นมาเองสำหรับเล่นโดยนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์ในปัจจุบันมาแต่งมีลักษณะเป็นเรื่องราวสมัยใหม่ หรืออาจนำเอา นวนิยายร่วมสมัยมาเล่น

ปี่นอก
เครื่องดนตรี แต่ละคณะอาจมีเครื่องดนตรีที่ต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือต้องมี กลองทับ ปี่ ฉิ่ง โหม่ง กรับบางครั้งอาจนำเอาเครื่องดนตรีประเภทอื่นมาเล่นด้วย เช่น ซอด้วง  หรือเครื่องดนตรีสากลมาเล่นผสมกัน
กลองตุ๊ก








โทน หรือ ทับ








ฆ้องคู่






กรับ









ฉิ่ง







การผสมวงประกอบการแสดง
              วงดนตรีจะบรรเลงอยู่ด้านหลังคนเชิด














รายการคุณพระช่วยให้ความรู้ในเรื่องหนังตะลุง 
และการแสดงหนังตะลุง


โอกาสที่แสดง โดยทั่วไปนิยมแสดงในงานนักขัตฤกษ์ และงานทั่วไป หรือในงานศพ โดยจะเริ่มแสดงตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. จนถึง ๒๔.๐๐ . หรือแสดงตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าก็ได้
ขั้นตอน หรือวิธีแสดงหนังตะลุง
          . การทำพิธีตั้งเครื่อง และเบิกโรง เป็นการเอาฤกษ์เพื่อขอที่ตั้งโรง และปัดเป่าเสนียดจัญไร รวมทั้งเชิญครูหนังให้มาคุ้มครอง
          . เล่นเพลงโหมโรง เพลงโหมโรง จะมี ๒ ลักษณะ คือ เพลงทับ กับเพลงปี่ เพลงทับจะใช้จังหวะการตีทับเป็นหลัก เพลงปี่จะใช้เสียงปี่เป็นหลัก จุดประสงค์ของการโหมโรงเพื่อเรียกคนดู และให้คณะแสดงเตรียมพร้อม
          . ออกรูปลิงขาวจับลิงดำ หรือชุดจับลิงหัวค่ำ เป็นการแสดงเพื่อเรียกคนดู  และเป็นประเพณีนิยมกันมานาน เรื่องราวเป็นการสอนธรรมะ ปัจจุบันนำมาแสดงเฉพาะเมื่อมีการแก้บน
          . ออกรูปพระฤษี เป็นการแสดงความคารวะครู และปัดเป่าเสนียดจัญไร จะนำรูปพระฤษีมาเชิดผ่านหน้าจอ ๓ ครั้ง แล้วปักไว้กลางจอว่าคาถา
          . ออกรูปพระอิศวรทรงโคอศุภราช โดยเชิดผ่านจอด้านบนช้า ๆ ให้เห็นเงาเพียงราง ๆ อวดท่าเชิดที่แสดงให้เห็นความมีอำนาจของเทพศิวะ และความพยศของโคที่ทรง การเชิดรูปพระอิศวร ถือเป็นศิลปะชั้นสูง ผู้เชิดจึงต้องใช้ฝีมือในการเชิดเป็นอย่างดี
          . ออกรูปปรายหน้าบท หรืออภิปรายหน้าบท รูปอภิปรายหน้าบทเป็นตัวแทนของนายหนัง มีลักษณะสำคัญคือ ตัวหนังจะถือดอกบัวเป็นเครื่องบูชา ออกมาร้องบทไหว้ครู กล่าวถึงคุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์
          . ออกรูปบอกเรื่อง เป็นการเชิดรูปตัวตลกออกมาพูดกับผู้ชมในเรื่องทั่วไป เป็นการแนะนำคณะหนัง สาเหตุที่มาแสดง กล่าวขอบคุณผู้ชม เล่าเรื่องที่จะเล่น หรือเล่าเรื่องย่อจากตอนที่เล่นผ่านมาแล้วในคืนก่อน เป็นต้น
          . ออกรูปเจ้าเมือง หรือตั้งนามเมือง ก่อนเข้าเนื้อเรื่อง จะมีการ ตั้งเมืองจึงออกรูปเจ้าเมือง และมเหสี สมมติว่ามีเมืองหนึ่งตามท้องเรื่อง แนะนำตัวเจ้าเมือง และมเหสี บรรยายเหตุการณ์ หรือสภาพบ้านเมือง
          . ดำเนินเรื่อง    หลังจากตั้งเมือง ก็เริ่มแสดงก็จะออกรูปตัวละครตามลำดับ โดยทั่วไป รูปเจ้าเมือง มเหสี พระเอก นางเอก จะเจรจาใช้ภาษากลาง ส่วนตัวตลก หรือตัวประกอบอื่น ๆ จะเจรจาเป็นภาษาถิ่นทางภาคใต้                         

            

หุ่น
            การแสดงหุ่นเกิดขึ้นในสมัยใดนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน เข้าใจว่าน่าจะมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสันนิษฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ อัครราชทูต ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการกล่าวถึงการเล่นหุ่นของสยามการแสดงหุ่นจึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ประเภทของการแสดงหุ่นไทย และเรื่องที่ใช้เล่น
            การแสดงหุ่นของไทยมีหลายประเภท สามารถแยกประเภทของการแสดงได้ดังนี้
            หุ่นหลวง หรือหุ่นใหญ่
           
หุ่นหลวงแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง
ขนาดหุ่นสูงใกล้เคียงกับคนจริง
         การแสดงหุ่นประเภทนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมีการเล่นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รูปร่างของหุ่นมีลักษณะเหมือนคนจริง แม้กระทั่งเครื่องประดับศีรษะก็สามารถถอดออกได้เหมือนกับคนจริง ลำตัวทำด้วยไม้ คว้านให้มีลักษณะบางและเบา บริเวณเอวใช้หวายร้อยขดเป็นวงกลมซ้อนกันเพื่อให้ตัวหุ่นสามารถยักเอวได้เหมือนคนจริงรำ ตรงกลาง
โครงสร้างภายในตัวหุ่น
ลำตัวมีแกนไม้เป็นด้ามยาวลงมาสำหรับจับ มีสายหรือเชือกผูกโยงกับอวัยวะต่าง ๆของหุ่นสำหรับชักให้อวัยวะต่างๆ เคลื่อนไหวได้ ที่คอไม้เล็ก ๆ ต่อลงมาสำหรับเชิดให้หน้าหุ่นหันไปมา มีความสูงประมาณ ๑
เมตร หุ่นหลวงเป็นหุ่นที่เกิดขึ้นในพระราชสำนัก ดังนั้นเรื่องที่นำมาแสดง จึงเป็นเรื่องสำหรับใช้แสดงละครใน เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ อุณรุท
           
เชือกที่โยงส่วนต่างๆ ของตัวหุ่นสำหรับชักเชิด
มี ๑๖ เส้น ปลายเชือกมีห่วงทองเหลืองสำหรับ
ให้คนเชิดสอดนิ้วเข้าไปเวลาทำหน้าที่เชิด
เนื่องจากหุ่นหลวงเป็นหุ่นที่มีขนาดใหญ่คล้ายคนจริง ประกอบกับแบบแผนการแสดงจะเชิดให้หุ่นแสดงท่าร่ายรำเหมือนกันคนจริงร่ายรำ จึงชักเชิดยากต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี ต่อมาภายหลังเมื่อเกิดหุ่นประเภทอื่น ๆ ที่ชักเชิดง่ายกว่า จึงทำให้ไม่มีการสืบทอดศิลปะการเชิดหุ่นหลวงไว้ ในปัจจุบันจึงไม่พบเห็นผู้ที่มีความชำนาญ
หัวโขนสำหรับให้หุ่นหลวงสวมเมื่อแสดงเรื่องรามเกียรติ์
ในการเชิดหุ่นประเภทนี้ ตัวหุ่นจึงถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
           










หุ่นเล็ก
           
หุ่นจีนชุดแรกที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
สร้างขึ้นแสดงเรื่อง "ซวยงัก"
เป็นหุ่นไทยที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ โปรดให้มีการสร้างขึ้น โดยได้แนวคิดมาจากหุ่นจีนซึ่งมีขนาดสูงเพียง ๑ ฟุต หุ่นชุดแรกของท่านจึงสร้างแบบหุ่นจีนแต่งกายแบบจีนเล่นเรื่อง ซวยงัก ต่อมาท่านได้สร้างหุ่นเล็กชุดที่ ๒ ให้มีลักษณะเหมือนกับหุ่นหลวงทุกอย่าง เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าสูงเท่าหุ่นจีนชุดแรก มีแกนไม้ใช้บังคับตัว คอ และมีเชือกโยงตามแขนขา เคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆได้น้อยกว่าหุ่นหลวง เรื่องที่นำมาแสดงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่นำมา
"หนุมาน" หุ่นชุดที่ ๒ ของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
สร้างเลียนแบบหุ่นหลวงแต่ขนาดเล็กกว่า
แสดงเรื่องรามเกียรติ์
จากบทละครใน และบทละครนอก ที่นิยมนำมาแสดงคือเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันจึงปรากฏให้เห็นในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจะเป็นหุ่นเล็กที่เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์เป็นส่วนใหญ่
           
หุ่นทศกัณฐ์ หุ่นเล็กของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ














หุ่นกระบอก 
         
หุ่นกระบอกตัวนาง
เป็นหุ่นที่ถูกปรับปรุงขึ้นโดย ม
... เถาะ พยักฆเสนา ท่านได้แนวคิดมาจาก หุ่นของนายเหน่ง ชาวบ้านในจังหวัดสุโขทัย เมื่อครั้งที่เดินทางไปราชการที่จังหวัดสุโขทัย จึงได้นำหุ่นของนายเหน่งมาดัดแปลง หุ่นกระบอกมีความสูงประมาณ ๑ ฟุตกว่า มีลำตัวเป็นแกนทำจากกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑ ฟุต คลุมด้วยผ้าที่ตัดเย็บเป็นถุงปล่อยชายยาวลงมา แล้วตกแต่งให้สวยงามสมมติให้เป็นเสื้อของหุ่น มุมของก้นถุงที่สมมติเป็นเสื้อจะติดมือทั้งสองข้าง ใช้ไม้ไผ่ผูกติดไว้ภายในถุง สำหรับใช้จับเชิดให้มือของหุ่นเคลื่อนไหวได้ การเชิดหุ่นกระบอกหนึ่งตัว ใช้คนเชิด ๑ คน โดยคนเชิดจะใช้มือขวาจับกระบอกลำตัวของหุ่น มืออีก
โครงสร้างภายในของหุ่นกระบอก
ลำตัวตรงกลางทำด้วยกระบอกไม้ไผ่
จึงเรียกหุ่นกระบอก
ข้างจับไม้ที่ใช้บังคับมือหุ่น ในการเชิดหุ่นกระบอก จะถูกเชิดให้แสดงท่าร่ายรำแบบละครรำ มีการปลูกโรงสำหรับแสดง ลักษณะโรงแสดงมีลักษณะเหมือนกับโรงละครที่มีขนาดย่อส่วนลงมาให้เล็กลงเหมาะกับขนาดของตัวหุ่น หุ่นจะถูกเชิดให้ผู้ชมเห็นเพียงส่วนบนของตัวหุ่น ด้านล่างมีฉากกั้นไว้ไม่ให้ผู้ชมเห็นมือของผู้เชิดที่จับแกนไม้ด้านล่างของหุ่นไว้ ผู้เชิดทำหน้าที่เจรจาประกอบการเชิด บางครั้งก็ขับร้องประกอบ    
พระอภัยมณี สินสมุทร นางผีเสื้อสมุทร
ตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี ของกวีเอกสุนทรภู่
นิยมนำมาแสดงหุ่นกระบอกมากที่สุด
การเชิดหุ่นในบทที่เป็นบทรำพึงรำพัน ส่วนบทบรรยายมีต้นเสียงร้องให้ หุ่นกระบอกนิยมแสดงเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่มาแสดง ในการแสดงหุ่นกระบอกจะไม่นำเอาบทละคร ๓
 เรื่อง คือ อิเหนา รามเกียรติ์ และ   อุณรุท มาแสดง การแสดงหุ่นกระบอกมีเพลงที่ใช้ขับร้องประกอบการเล่าเรื่อง หรือดำเนินเรื่อง คือ เพลงสังขารา หรือเพลงหุ่นกระบอก ซึ่งใช้ซออู้เล่นคลอการร้อง จึงเป็นเพลงที่แสดงสัญลักษณ์


การเชิดหุ่นกระบอกโดย คุณยายชื้น(ชูศรี) สกุลแก้ว
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(หุ่นกระบอก)
ของการแสดงหุ่นกระบอก


           








โรงแสดงหุ่นกระบอกด้านหน้า











ดนตรีใช้วงปี่พาทย์
มีซออู้ใช้บรรเลงคลอในการขับทำนองเพลงสังขารา(หุ่นกระบอก)












การแสดงหุ่นกระบอก จากรายการณัฐกานุรักษ์

หุ่นละครเล็ก
           
หุ่นขี้ผึ้ง ครูสาคร ยังเขียวสด (โจหลุยส์)
แสดงการเชิดหุ่นตัวหนุมาน
เป็นหุ่นที่นายแกร ศัพท์วนิช เป็นผู้คิดสร้างขึ้น โดยให้มีขนาดความสูงเท่ากับหุ่นเล็ก  มีลักษณะเป็นหุ่นเต็มตัวเหมือนกับหุ่นเล็ก แต่แก้ไขวิธีการบังคับการเคลื่อนไหวอวัยวะหุ่นให้เชิดง่ายขึ้น โดยใช้ก้านไม้ผูกติดกับมือของหุ่นเช่นเดียวกับหุ่นกระบอก แทนการใช้เชือกโยงเพื่อชักเชิด จะทำให้คนดูมองเห็นแกนไม้ที่เป็นส่วนลำตัวกับก้านไม้ที่ติดกับมือหุ่น ต่อมานายเปียก ประเสริฐกุลได้คิดสร้างหุ่นละครเล็กขึ้นให้มีขนาดเล็กกว่าหุ่นของนายแกร ในขณะที่หุ่นของนายแกร ศัพท์วนิชได้มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้โดย นายสาคร ยังเขียวสด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของลูกชายนายแกร นายสาคร ยังเขียวสดได้นำเอารูปแบบหุ่นของนายแกร มาปรับปรุงทำให้มีลักษณะที่งดงาม และง่ายต่อการชักเชิด การเชิดหุ่นประเภทนี้ยังคงนิยมเชิดให้แสดงการเคลื่อนไหวร่ายรำตามแบบนาฏศิลป์ไทย การเชิดหุ่นละครเล็ก หุ่น ๑ ตัวใช้คนเชิด ๓ คน โดยคนแรกเชิดส่วนลำตัว และมือของหุ่น ๑ ข้าง คนที่สองเชิดเท้าของตัวหุ่น คนที่สามเชิดมือที่เหลือ แขนอีกข้างประคองให้ผู้เชิดทั้งสองคนแรกเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน ขณะเชิดให้หุ่นแสดงท่าร่ายรำ เหมือนละครรำ และโขน ผู้เชิดทั้งสามคนต้องแสดงท่าทางเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับหุ่นไปพร้อมกันด้วย เรื่องที่แสดงจะนำเอาบทละครทั้งที่เป็นบทละครใน และบทละครนอกมาแสดง
แสดงวิธีการเชิดหุ่นของผู้เชิดคนแรก
มองจากด้านหลัง
           
แสดงวิธีการเชิดหุ่นของผู้เชิดคนแรก
มองจากด้านหน้า
















แสดงวิธีการจับเชิดส่วนศีรษะ
โดยผู้เชิดคนแรก
แสดงวิธีการจับเชิดส่วนศีรษะ
โดยผู้เชิดคนแรก















คนเชิดทีอยู่กลางทำหน้าที่เชิดเท้าหุ่น
วิธีจับเท้าหุ่นหากฝ่าเท้ามีแป้นให้จับ










วิธีจับเท้าหุ่นฝ่าเท้าไม่มีแป้นให้จับ











การเชิดหุ่นตัวละครฝ่ายพระ
การเชิดหุ่นตัวละครฝ่ายนาง














การเชิดหุ่นตัวละครฝ่ายยักษ์




รายการกบนอกกะลาให้ความรู้เกี่ยวกับหุ่นละครเล็ก

การแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่องรามเกียรติ์
ชุด กำเนิดพระคเณศ

           การแสดงหุ่นละครเล็กของนายสาคร ยังเขียวสด ได้นำส่งเข้าประกวดการแสดงหุ่นโลกที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เมื่อปี  ๒๐๐๖  ได้รางวัลการแสดงทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม (The  Best  Traditional Performanceจากเรื่อง  รามเกียรติ์  ชุด กูรามาวตาร ตำนานพระราหู ต่อมา ปี  ๒๐๐๘  ได้นำส่งเข้าประกวดเป็นครั้งที่ ๒ ได้รางวัล  The  Best  Performance  Award  จากเรื่องรามเกียรติ์  ชุดกำเนิดพระคเณศ

กิจกรรม ๑
https://docs.google.com/forms/d/1mByLm55AD4DolOcoHIWQzCmKQpWVBIL1TB3uEGsLHZY/edit

PowerPoint(โขน หนังใหญ่)  https://drive.google.com/drive/my-drive 
PowerPoint (หนังตะลุง หุ่น)  https://drive.google.com/drive/my-drive
PowerPoint (พื้นบ้าน) https://drive.google.com/drive/my-drive




1 ความคิดเห็น:

  1. Casino Bonus | Deposit 100% up to $1,000 - DrMCD
    Casino Bonuses — The best way to find and 영천 출장샵 choose the best 계룡 출장마사지 bonus available to you. 포항 출장마사지 No deposit bonuses always come 안성 출장안마 with a 대전광역 출장안마 nice bonus. We have reviewed many different

    ตอบลบ