วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ศิลปะการแสดงไทย

            "นาฏศิลป์ไทย"  เป็นศิลปะการแสดงของไทยที่มีรูปแบบการแสดงออกมาเป็นการเคลื่อนไหวที่แสดงกระบวนการร่ายรำ ดังนั้นความหมายคำว่านาฏศิลป์ จึงหมายถึง การเคลื่อนไหวที่เป็นท่าร่ายรำ กิริยาการเคลื่อนไหวจะมีลักษณะประณีต อ่อนช้อยงดงาม ละเอียด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แสดงออกมาในรูปแบบ ระบำ รำ เต้น ที่มีการบรรเลงดนตรี การขับร้องเข้าร่วมด้วย
             การแสดงออกนาฏศิลป์ไทยจึงต้องประกอบด้วยกระบวนการแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบการร่ายรำที่ประณีตอ่อนช้อย มีการบรรเลงดนตรีที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งในด้านรูปลักษณ์ และเสียงดนตรี มีการขับร้องประกอบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านการขับร้อง
             ดังนั้นการให้นิยามความหมายของคำว่า "นาฏศิลป์" ของไทย จะให้สมบูรณ์ตามหลักศิลปะการแสดงไทย ต้องมีการบรรเลงดนตรี การขับร้อง ประกอบการเคลื่อนไหวที่เป็นท่าร่ายรำด้วย จึงจะได้ชื่อว่านาฏศิลป์ไทยโดยสมบูรณ์
             ในวงการศิลปะด้านนาฏศิลป์และการดนตรีของไทยมีความเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียโบราณ ดังนี้

             ๑. อิทธิพลด้านความเชื่อในเรื่องพิธีการไหว้ครู ครอบครู นาฏศิลป์และดนตรี โดยก่อนเริ่มต้นศึกษา ผู้ศึกษาต้องเข้าพิธีไหว้ครู ครอบครู ซึ่งพิธีกรรมเหล่าเป็นพิธีกรรมที่ได้อิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียโบราณ ในพิธีกรรมจะมีการสร้างสรรค์ศีรษะเทพเจ้าที่เชื่อว่าเป็นครู เป็นผู้สร้างสรรค์ท่ารำให้กับมนุษย์โลก หลายองค์ ซึ่งองค์ที่เป็นหลักคือ พระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม ตรงตามความเชื่อของศาสนาพรหมณ์ฮินดู
              ๒. อิทธิพลด้านกระบวนการร่ายรำ เกิดจากหลักฐานที่พบในยุคสมัยทวาารวดี (มอญ) ที่มีอารยะธรรมเจริญรุ่งเรืองในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้ปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุรูปงานประติมากรรมแสดงท่าร่ายรำ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกระบวนท่าร่ายรำจากงานประติมากรรมของอินเดียที่สร้างไว้แสดงท่าร่ายรำของพระศิวะในแคว้นมัทราช เมืองจิทรัมพรัม ของอินเดีย สันนิษฐานว่าอิทธิพลลีลาการร่ายรำของอินเดียเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิในยุคมอญ และขอม เจริญรุ่งเรือง แต่รูปแบบลีลาแตกต่างไปในปัจจุบันเกิดจากพัฒนาการ และการปรับปรุงให้เข้ากับวิถี ค่านิยม ของคนแต่ละยุด จนกระทั่งมีรูปแบบที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์เช่นในปัจจุบัน
ละครชาตรีในยุคโบราณ จากตัวอย่างได้มีการพัฒนาในเรื่องผู้แสดงที่เพิ่มจำนวนมากกว่า ๓ คน
และมีการพัฒนาในเรื่องการแต่งกาย ที่เลียนแบบจากละครกษัตริย์

             ๓. อิทธิพลด้านวิธีการแสดงไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร โขน การแสดงเบิกโรง แม้กระทั่งการมีตัวตลกตามพระเอก นางเอก การแสดงละครไทยโดยเฉพาะละครชาวบ้านที่เรียกว่าละครชาตรีเชื่อว่าได้อิทธิพลจากละครยาตราของอินเดีย เพราะมีรูปแบบวิธีการแสดงที่เหมือนกันในเรื่องจำนวนผู้แสดงที่ใช้เพียง ๓ คน เรื่องที่นิยมแสดง แต่ละครชาตรีของไทยต่อมาได้มีการพัฒนามาโดยตลอดจึงทำให้รูปแบบการแสดงดูแตกต่างออกไป ส่วนการแสดงโขนไทย เชื่อว่าได้อิทธิพลจากการแสดงกถักลิของอินเดีย เนื่องจากมีรูปแบบการแสดงที่คล้ายคลึงกันหลายด้าน เช่น การแสดงโขนไทยถือกำเนิดในราชสำนัก เช่นเดียวกับกถักลิที่เกิดจากวรรณชั้นสูงของอินเดีย โขนแสดงเรื่องรามเกียรติ์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเก่าแก่ของอินเดียเรืองรามายณะ โขนมีการพากย์เจรจา มีการใช้ภาษาท่าทาง ซึ่งกถักลิของอินเดียมีรูปแบบการแสดงไม่ต่างกับโขน แต่ด้วยเหตุผลที่โขนของไทยถือกำเนิดภายหลัง จึงเชื่อว่าคงได้อิทธิพลจากของอินเดียมา ในขณะที่การแสดงเบิกโรงที่ไทยนิยมนำมาแสดงก่อนการแสดงละครใน และโขนนั้นก็มีการสันนิษฐานว่าน่าจะได้อิทธิพลมาจากการแสดงชุด "ปริวรรตนะ" ของอินเดียที่นิยมนำมาแสดงโดยให้ผู้แสดงถือธงออกมาร่ายรำเพื่อบูชาธงและเทพเจ้าตามความเชื่อก่อนแสดงเป็นเรื่องราว ทั้งนี้ไทยได้นำมาปรับปรุงให้เป็นการแสดงเบิกโรงโดยให้ผู้แสดงสมมติตนเองเป็นเทวดาถือหางนกยูงออกมารำเพื่อความเป็นมงคล แล้วเรียกการแสดงชุดนี้ว่า "ประเลง"
           ๔. อิทธิพลวรรณกรรมของอินเดียที่เข้ามามีบทบาทต่อวรรณกรรมการละครของไทย ในเรื่องเนื้อหาเรื่องราวที่นิยมให้ตัวละครเป็นเทพเทวดา อวตาร หรือจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์มีฐานะเป็นกษัตริย์ ตัวละครในเรื่องต้องมีเหตุให้ออกเดินทางติดตามหาสิ่งที่พลัดพราก ฟันฝ่าอุปสรรค มีเรื่องราวของความรัก การรบ แต่ต้องจบลงด้วยความสุขสมหวัง หากเรื่องไม่จบลงด้วยความสุขสมหวังมักไม่เป็นที่นิยมของคนดูเท่าที่ควรจึงมีการแต่งเรื่องขึ้นมาให้มีลักษณะเป็นภาคต่อ เช่นเรื่องรถเสน (พระรถเมรี) กับพระสุธนมโนห์รา ที่คนไทยเชื่อว่าเป็นภาคต่อเนื่องกัน
           ๕. นอกจากนี้ในเรื่องของอิทธิพลเครื่องดนตรียังเชื่อว่าเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า เครื่องเคาะ เครื่องตี เครื่องกระทบ และเครื่องสี บางประเภทไทยน่าจะได้อิทธิพลมาอินเดีย เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ศึกษาและให้ข้อสันนิษฐานและนำมาเปรียบเทียบกันพบว่ามีรูปร่าง และวิธีเล่นไม่ต่างกัน จึงเชื่อว่าในยุคแรกที่เราได้อิทธิพลมาได้นำมาประกอบการแสดงละครชาตรี เรียกว่า วงปี่พาทย์ชาตรี
           นอกจากข้อสันนิษฐานดังกล่าวไทยยังยึดตำนานการฟ้อนของอินเดียมาเป็นความเชื่อตาม ซึ่งตำนานดังกล่าวได้มีเรื่องราว ดังนี้

ตำนานการฟ้อนรำที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย

        เป็นตำนานที่ปรากฏใน “โกยิลปุราณะ” ฉบับอินเดียใต้ เป็นตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดท่ารำของมนุษย์ในศาสนาฮินดู ได้กล่าวไว้ ดังนี้
         กาลครั้งหนึ่งมีเหล่าฤษีกลุ่มหนึ่งตั้งอาศรม(ที่พักอาศัย)อยู่กับภรรยาในป่าตาระคา(ตาระกา) ต่อมาฤษีกลุ่มนี้ประพฤติผิดเทวะบัญญัติ  ทำให้พระศิวะเทพเจ้าขัดเคืองจึงชวนพระนารายณ์ลงมาปราบ โดยทำอุบายแปลงกายเป็นฤษีสองสามีภรรยามาอยู่ร่วมกับเหล่าฤษีในป่าแห่งนี้ ด้วยเหตุที่ฤษีแปลงทั้งสองพระองค์มีรูปโฉมงดงามทำให้เหล่าฤษีมนุษย์และภรรยาพากัน   ลุ่มหลงทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทแย่งชิงกันด้วยอำนาจราคะจริต  แต่ฤษีแปลงทั้งสองไม่ปลงใจด้วยจึงสร้างความโกรธแค้นให้เหล่าฤษีและภรรยา  สาปแช่งฤษีแปลงทั้งสององค์ แล้วช่วยกันเนรมิตเสือให้มาทำร้าย    พระศิวะจึงฆ่าเสือนำหนังเสือมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม  เหล่าฤษีไม่ยอมแพ้เนรมิตพญานาคให้พ่นพิษทำร้าย  พระศิวะจึงจับมาทำเป็นสังวาลประดับองค์  เหล่าฤษีไม่ยอมสิ้นฤทธิ์ช่วยกันเนรมิตยักษ์ค่อมมีกายใหญ่โตผิวสีดำชื่อ อสูรมูลาคนี (มุยะละคะ หรือ มุละยะกะ)   ก็ถูกพระศิวะแปลงกายใหญ่โตกว่าแล้วใช้เท้าขวาเหยียบยักษ์จนหลังหัก ขณะที่ต่อสู้กันในระหว่างนั้นพระศิวะจะแสดงท่าร่ายรำไปด้วย  เมื่อยักษ์ค่อมล้มลงจึงใช้เท้าเหยียบยักษ์ไว้แล้วแสดงท่าร่ายรำต่อจนจบกระบวนท่ารำ   เหล่าฤษีเห็นดังนั้นจึงสิ้นฤทธิ์ยอมรับผิดแล้วขอขมา  สัญญาจะประพฤติตนอยู่ในเทวะบัญญัติอย่างเคร่งครัดต่อไป
          เมื่อกลับจากปราบฤษี  พระนารายณ์ได้เล่าเรื่องราวให้พญาอนันตนาคราชผู้เป็นบัลลังก์นาคฟัง พญานาคอยากเห็นพระศิวะร่ายรำ  พระนารายณ์แนะให้ไปบำเพ็ญภาวนาเพื่อขอพรจากพระศิวะที่เชิงเขาไกรลาศ  ในที่สุดพระศิวะก็เสด็จมาร่ายรำให้พญานาคดูตามคำขอโดยเนรมิต “นฤตสภา” ขึ้นในเมืองมนุษย์ที่ตำบลจิทรัมพรัมในแคว้นมัทราชทางตอนใต้ของประเทศอินเดียแล้วทรงแสดงท่ารำให้พญานาคดูเป็นครั้งที่สอง
           ต่อมาพระพรหมต้องการรวบรวมท่ารำไว้เป็นตำราสำหรับมนุษย์โลกจึงโปรดให้พระภรตฤษี (ภารตะมุนี หรือนารทฤษี) ไปทูลเชิญให้พระศิวะร่ายรำเป็นครั้งที่สาม  การร่ายรำครั้งนี้พระศิวะทรงเชิญพระอุมามเหสีเป็นประธาน ให้พระสรัสวดีดีดพิณ พระอินทร์เป่าขลุ่ย พระพรหม ตีฉิ่ง พระนารายณ์ตีโทน พระลักษมีขับร้อง ท่ารำที่บันทึกไว้ชาวอินเดียเรียกว่า “กรณะ” มีท่ารำพื้นฐาน ๓๒ ท่ารำ เมื่อนำมาผสมผสานท่าทางเข้าด้วยกันจะได้ทั้งหมด ๑๐๘ ท่า               
เทวรูปปางนาฏราช
ชาวอินเดียถือว่าพระศิวะทรงเป็น   “นาฏราช”   (ราชาแห่งการฟ้อนรำ) จึงสร้างเทวรูปปาง       “พระศิวะนาฏราช” แสดงท่าร่ายรำโดยใช้เท้าขวาเหยียบหลังยักษ์ค่อมไว้เพื่อเป็นการบูชา และ ระลึกถึงการประทานท่ารำให้มนุษย์ของเทพเจ้าองค์นี้
               



     ศิลปะการแสดงไทยเป็นศิลปะที่มีคงามเป็นเอกลักษณ์ทางการแสดง มีขนบแบบแผนในการแสดงเป็นของตนเอง ในการชมนาฏศิลป์ไทยเพื่อให้เกิดสุนทรียภาพ และสุนทรียรส จากการแสดง ผู้ชมควรมีความเข้าใจในองค์ประกอบหลักของการแสดง คือ

ระบำกรีดยาง สร้างจากแนวคิดการดำรงชีพของชาวภาคใต้
โดยการปลูกยางพารา
                  ๑. การแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว เช่น โขน ละครไทย หรือ การแสดงที่ไม่เป็นเรื่องราวประเภทรำบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง มักมีแนวคิดในการสร้างสรรค์ให้ผู้ชมได้รับรู้ หลังจากชมการแสดง อาจนำเสนอออกมาเป็นแนวคิดของเรื่องราวที่ชม หากเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราว หรือผู้ชมจะเกิดความเข้าใจในการแสดงว่านำเสนอให้เห็นหรือเข้าใจในเรื่องอะไร เช่นความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต สิ่งที่การแสดงนำเสนอ หากเป็นการแสดงที่ไม่เป็นเรื่องราวประเภท ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง เป็นต้น
                  ๒. นาฏศิลป์ไทยต้องมีนักแสดงนำเสนอ โดยอาศัยการเคลื่อนไหวออกมาเป็นท่าร่ายรำ โดยท่าร่ายรำนั้นจะเคลื่อนไหวอย่างอ่อนช้อยงดงามประณีตตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
                     ๓. มีการออกแบบสร้างสรรค์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ใช้สีสัน และความแวววาวระยิบระยับโดยเกิดจากจินตนาการ และค่านิยมที่สืบทอดกันมานาน
               ๔. มีการขับร้องประกอบการแสดงบทร้องหากเป็นการแสดงประเภทระบำ รำ ฟ้อน ก็จะเกี่ยวข้องกับชื่อชุดการแสดง และโอกาสที่แสดงหากเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราวนิยมใช้บทร้องเป็นการเล่าเรื่อง พรรณนาเหตุการณ์ ดำเนินเรื่อง หรืออาจมีลักษณะเป็นบทพูดเพื่อให้เรื่องดำเนินไปเร็วกระชับ การขับร้องมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ คือมีการเอื้อนเสียง ให้เกิดความไพเราะ
                      ๕. มีดนตรีประกอบ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนิยมใช้วงปี่พาทย์ มีลีลาการบรรเลง ท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับ การร่ายรำ การขับร้อง นาฏศิลป์ไทยอาจขาดการขับร้องได้แต่ดนตรีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
              การชมนาฏศิลป์ไทยไม่ว่าเป็นเรื่องราว หรือไม่เป็นเรื่องราวต้องอาศัยความรู้เข้าใจในขนบแบบแผนการแสดง เพื่อให้ผู้ชมได้รับทั้งสุนทรียภาพ และสุนทรียรส ของการแสดง เมื่อชมการแสดงควรมีความรู้ความเข้าใจ ดังนี้
                   ๑. รู้ประเภทของการแสดงว่าเป็นการแสดงประเภทใด ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง ตารี หรือละครรำ โขน หนังใหญ่ หุ่น เป็นต้น 
                    ๒. รู้เนื้อหา เรื่องราวที่นำเสนอ เพื่อให้เกิดความเข้าในสิ่งที่ชม หากเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวมาก่อน หรือเข้าใจในความเป็นมาของการแสดงมาก่อนจะทำให้เข้าใจในสิ่งที่ชมมากขึ้น
                 ๓. รู้แบบแผนการแสดง นาฏศิลป์ไทยนิยมใช้กระบวนการรำเป็นการแสดงออก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการแสดงการเคลื่อนไหวเดิน ยืน นั่ง นอน หมอบ คลาน หรือการแสดงอารมณ์ต่างๆ เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ หรือการแสดงคำพูดการเจรจา จะต้องเห็นการแสดงท่ารำประกอบ รูปแบบการแสดงท่ารำก็แตกต่างกันไปตามแบบแผนที่กำหนดไว้ เช่น ละครของกษัตริย์ กับละครชาวบ้าน การแสดงที่รำจะมีความงดงามประณีตต่างกัน นอกจากนี้การวางตำแหน่งตัวละคร การแสดงวิธีการเกี้ยวพาราสี การแสดงการรบก็มีการแสดงออกทีต้องมีกระบวนการรำประกอบ หากผู้ชมเข้าใจในขนบแบบแผนนาฏศิลป์ไทยก็จะชมการแสดงได้อย่างเข้าใจและสนุกสนานได้
                  ๔. ต้องเข้าใจในกระบวนการรำ เช่น การรำประกอบทำนองเพลงที่เรียกว่าเพลงหน้าพาทย์ โดยส่วนใหญ่จะใช้ประกอบเหตุการณ์ ประกอบอารมณ์จึงไม่มีการขับร้องประกอบ เช่น การแปลงกาย การแสดงอิทธฺิฤทธิ์ การเดินทาง ฯลฯ ผู้ชมต้องดูกระบวนการรำ หากเป็นการรำที่มีบทร้อง บทพากย์เจรจา ประกอบซึ่งเรียกว่า "รำบท" หรือ "ตีบท" หรือ "ทำบท" ท่าร่ายรำจะมีความหมายสอดคล้องกับบทนั้นๆ 
                    ในกระบวนการร่ายรำของนักแสดงท่าทางที่แสดงออกจะมีลักษณะเคลื่อนไหวของศีรษะไหล่ เอว มือ แขน ขา เท้า ที่แสดงออก ต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน ซึ่งลักษระท่าทางต่างๆ ที่แสดงออกเรียกว่า "นาฏยศัพท์" และหากท่าร่ายรำนั้นมีความหมายสอดคล้องกับบทร้อง บทพากย์เจรจา นิยมเรียกว่า "ภาษาท่า" หรือ "ภาษานาฏศิลป์" การศึกษานาฏยศัพท์ ภาษาท่า จึงเป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการร่ายรำนาฏศิลป์ไทยมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ชมสามารถวิเคราะห์ท่าทางการร่ายรำได้ว่านักแสดงมีกระบวนการร่ายรำได้งดงามเหมาะสมตามหลักนาฏศิลป์ไทยหรือไม่ การศึกษานาฏยศัพท์เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจึงนิยมแบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ
                    หมวดนามศัพท์   เป็นท่าทางที่มีชื่อเรียกเฉพาะลงไป เช่น มือจีบ ตั้งวง ล่อแก้ว ประเท้า ก้าวเท้า กระทุ้งเท้า กระดกเท้า ขยั่นเท้า สดุดเท้า ถัดเท้า ฯลฯ
                      หมวดกิริยาศัพท์  เป็นกิริยาอาการที่แสดงออกของท่ารำของผู้แสดง หากมีกระบวนท่ารำที่ไม่งดงามถูกต้องเรียกว่า "ศัพท์เสื่อม" เช่น คอดื่ม หลังโกง หลังค่อม แอ่นหน้า ก้นโด่ง ฯลฯ ในขณะที่ต้องมีการแก้ไขกระบวนท่าทางให้งดงาม ก็จะเรียกคำเหล่านี้ว่า "ศัพท์เสริม" เช่น เปิดปลายคาง ตึงไหล่ ยืดตัว ทับหน้า ดันเอว ฯลฯ เป็นต้น
                      หมวดเบ็ดเตล็ด เป็นศัพท์ที่นิยมใช้เรียกประเภทตัวละคร เช่น พระ นาง ยักษ์ ลิง ใช้เรียกลักษณะการแปรกระบวนแถวในการแสดง เช่น ตั้งซุ้ม แถวตอน เข้าวง(พู) แม่ท่า เป็นต้น
                       กระบวนท่ารำเหล่านี้จะมีการสร้างสรรค์โดยนาฏยประดิษฐ์ หากมีความหมายที่สื่อให้ผู้ชมเข้าใจก็จะมีลักษระเป็นภาษาท่าทาง แต่เรียกว่า "ภาษาท่า" ด้วยความที่เป็นกระบวนการรำอาจเรีกว่า "ภาษานาฏศิลป์" ได้
การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด ลักสีดา
แสดงให้เห็นถึง การรำบท การรำหน้าพาทย์
การใช้นาฏยศัพท์ในท่ารำ และการแสดงภาษาท่า

การแสดงไม่เป็นเรื่องราวไทย

                      การแสดงประเภทนี้มักใช้คำว่า "รำ" "ระบำ" "ฟ้อน" "เซิ้ง" "ตารี" นำหน้าชื่อการแสดง เช่น รำมโนห์ราฐูชายัญ  ระบำนพรัตน์ ฟ้อนเล็บ เซิ้งตังหวาย ตารีบุหงา ฯลฯ รูปแบบอาจมีความแตกต่างกันไปในวิธีการนำเสนอ ดังนี้
                    
              ระบำ นิยมใช้ผู้แสดงตั้งแต่สองคนหรือมากกว่าสองคน แสดงกระบวนท่าร่ายรำพร้อมกัน การแสดงที่มุ่งความงดงามของท่ารำและความพร้อมเพียงของการเคลื่อนไหว การจัดรูปแบบกระบวนแถว และความสวยงามของการแต่งกายเป็นสำคัญ
                รูปแบบการแสดง  ระบำได้รวมเอารูปแบบของ ฟ้อน” “เซิ้ง” “ตารีเข้าไว้ด้วย เพราะวิธีการแสดง และรูปแบบการแสดงมีลักษณะเหมือนกัน แยกให้เห็นความแตกต่างของท้องถิ่นแต่ละภาคในด้านลีลาการร่ายรำ การแต่งกาย และภาษาคำร้อง ตามท้องถิ่น วัฒนธรรม และประเพณีนิยม

ระบำฉิ่ง โดยกรมศิลปากร


ฟ้อนสาวไหม การแสดงพื้นบ้านภาคเหนือ


เซิ้งโปงลาง การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน



ตารีมาลากัส การแสดงพื้นบ้านภาคใต้สะท้อนวัฒนธรรมไทยมุสลิม
                 ระบำแบบมาตรฐาน  คือระบำที่ประกอบด้วยท่ารำ บทร้อง และเพลงหน้าพาทย์ตามแบบนาฏศิลป์ไทย ซึ่งครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์ในอดีตได้กำหนดแบบแผนกระบวนการรำที่มีลักษณะเฉพาะเป็นที่ยอมรับกันมานานการแต่งกายนิยมให้แต่งยืนเครื่องพระ นาง หรือเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ สมมติให้ผู้แสดงเป็นเทวดานางฟ้า ได้แก่ ระบำสี่บท ระบำพรหมมาสตร์  ระบำย่องหงิด  ระบำดาวดึงส์ และระบำกฤดาภินิหาร  เป็นต้น

ระบำสี่บท เป็นระบำเทวดา นางฟ้าในการแสดงโขน และละครใน 
เรื่องรามเกียรติ์  จัดเป็นระบำมาตรฐาน
           ระบำแบบปรับปรุงขึ้น  เป็นระบำที่สร้างขึ้นใหม่ คำนึงถึงความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ อาจปรับปรุงเลียนแบบจากระบำมาตรฐาน โดยยึดแบบและลีลาตลอดจนความสวยงามตามระบำแบบมาตรฐานไว้ เช่น เลียนแบบลีลาท่ารำที่สำคัญ เลียนแบบการแต่งกาย เลียนแบบกระบวนการจัดรูปแบบแถวบนเวที ฯลฯ เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ดูงามขึ้น หรือเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่และโอกาสที่นำไปแสดง เช่น ระบำถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนพรรษาของพระมหากษัตริย์ หรือเหล่าบรรดาเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ เป็นต้น
หรือปรับปรุงจากพื้นบ้าน ประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นโดยได้แนวคิดจากวิถีความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นหรือคนพื้นบ้าน อาจแสดงให้เห็นถึง วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ความเชื่อ  ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น นำมา สร้างสรรค์นำเสนอในเป็นรูปแบบระบำต่างๆ  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ประจำถิ่นเช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา ระบำชาวนา ฟ้อนสาวไหม ตารีมาลากัส  เป็นต้น
หรือปรับปรุงจากเหตุการณ์ คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อนำไปแสดงในโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อนำไปแสดงในวันลอยกระทง รำอวยพรที่มีบทร้องเหมาะสมหรือเกี่ยวข้องกับโอกาสที่แสดง เช่น แสดงความยินดี อวยพรวันเกิดงานวันเกษียณอายุ เป็นต้น หรือ ปรับปรุงขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสื่อนำเข้าสู่บทเรียนเหมาะสำหรับเด็กๆ เป็นระบำง่าย ๆ เร้าความสนใจใช้ประกอบบทเรียนต่าง ๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์ ระบำปลาน้ำจืด น้ำเค็ม ระบำนก ระบำผ้า ระบำไก่ เป็นต้น

ระบำชาวนา เป็นระบำปรับปรุงใหม่ เกิดจากแนวคิดการประกอบอาชีพทำนา
ของชาวไทย โดยเฉพาะภาคกลาง
              ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำไม่ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือ และความสามารถของผู้สอน และตัวผู้เรียนเอง
                รำ หมายถึง ศิลปะของการรำเดี่ยว รำคู่ รำหมู่ รำอาวุธ ข้อสังเกตในการที่จะเรียกการแสดงชุดหนึ่งชุดใดว่า รำนั้น สังเกตได้ ดังนี้

รำเดี่ยวฉุยฉายพราหมณ์
               เป็นการแสดง เดี่ยว” (รำคนเดียว) เรียกได้ว่า รำเช่น รำฉุยฉายต่าง ๆ ได้แก่ ฉุยฉายพราหมณ์ ฉุยฉายเบญจกาย รำกริชเดี่ยว รำมโนห์ราบูชายัญ รำพลายชุมพล  เป็นต้น

รำคู่ ชุด รจนาเสี่ยงพวงมาลัย


รำอาวุธ พลองกับไม้สั้น

        การแสดง คู่ให้พิจารณาที่ บทว่ารำบทเดียวกันหรือไม่ ถ้าบทเดียวกันจะออกไปในรูปของ ระบำถ้าใช้คนละบทมักเรียกว่า รำ เช่น รำคู่ชุดเงาะรจนาเสี่ยงพวงมาลัย ออกมารำ 2 คน แต่ก็รำคนละบท ลีลาของตัวละครต่างกัน หรือรำอาวุธ เราก็เรียกว่ารำ เพราะตัวละครทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยลีลาคนละแบบ
          หากการแสดงออกมาเป็นหมู่ เช่น รำสีนวล รำแม่บท แต่ยังเรียกว่า รำไม่เรียกว่า ระบำต้องพิจารณาว่า การแสดงชุดนั้นตัดตอนออกมาจาก การแสดง โขนหรือ ละครหรือไม่ ถ้ามาจากการแสดงโขน หรือ ละคร และการรำนั้นมักเป็นการรำของตัวละครตัวเดียวมาก่อนถึงแม้จะตัดตอนออกมาแสดงแล้วจัดการแสดงเป็นหมู่ก็ยังนิยมเรียกว่า รำตามคำเรียกเดิมของการแสดงชุดนั้น เช่น รำสีนวล เป็นการรำของนางวิฬา(นางแมว) ที่เป็นตัวละครในเรื่องไชยเชษฐ์รำแม่บทมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก เป็นบทรำของนางนารายณ์แปลง รำล่อให้นนทุกรำตาม เป็นต้น


ทำนองเพลงสีนวลนำมาประกอบการร้องบทของนางวิฬาร์
ที่ออกมาเยาะเย้ยพระไชยเชษฐ์ในละครนอกเรื่อง ไชยเชษฐ์
จากทำนองนี้ได้มีการนำมาประกอบบทร้องที่แต่งใหม่ เรียกการแสดงว่า
รำสีนวล เป็นการรำหมู่


รำสีนวล รำหมู่ที่มีรูปแบบระบำ แต่ไม่นิยมเรียกระบำ ยังคงเรียกว่ารำ จึงเป็นรำหมู่

         การแสดงไม่เป็นเรื่องราวของไทย เป็นการแสดงที่ใช้เวลานำเสนอระยะสั้น ในรูปแบบคำว่า รำ ระบำ ฟ้อน เซิ้ง ตารี  การแสดงประเภทนี้อาจการสร้างสรรค์ไว้และสืบทอดท่ารำต่อกันมานานที่เป็นลักษณะระบำมาตรฐาน หรืออาจเป็นการแสดงที่มีการสร้างสรรค์ประดิษฐ์/ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ โดยจะนำมาใช้ได้หลายโอกาส ทั้งนี้การสร้างสรรค์การแสดงจะขึ้นอยู่กับวิธีการสร้างสรรค์ อาจมีแนวทางที่ต่างกันออกไป ตามโอกาสที่นำเสนอ





  

                        

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอลิ้งสำหรับดาวน์โหลดกิจกรรมท้ายบทที่ 2 หน่อยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. วิธีการการดาวน์โหลดให้ปฏิบัติตามที่ระบุไว้ใต้ข้อความที่ลิ้งค์ เข้าไปดูในบทความอีกครั้ง

      ลบ
    2. ลิ้ง แบบฝึกหัด พาไปที่ ไดร์ของผมเอง ไม่ได้พาไปที่ดาวโหลดแบบฝึกหัดของอาจารย์ครับ

      ลบ