สุนทรียภาพทางศิลปะการแสดงตะวันตก
การศึกษาศิลปะการแสดงตะวันตก(WesternPerforming Arts)
สามารถ แบ่ง การแสดงเป็น
๒ประเภท ได้แก่ การศิลปะการเต้นรํา (Dance) และศิลปะการแสดงละคร (Theatre) โดยธรรมชาติการแสดงสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
กล่าวคือ ละครจะมี “บท” หรือ “เรื่อง” เป็นตัวกำหนดทิศทาง
ดังนั้นตามปกติการแสดงละครจึง มุ่งเน้นที่จะสื่อสาร ‘เรื่องราว’
ในขณะที่การเต้นรํามีจุดมุ่งหมายในการสร้างสุนทรียะรสแก่ผู้ชม
ทั้งในด้านความงามของลีลาท่าทาง เสื้อผ้าเครื่องประดับ ความไพเราะของดนตรี
รวมถึงความอลังการ ของฉาก จึงอาจกล่าวได้ว่าละครให้ความสําคัญกับการ
“ดูเอาเรื่อง” ขณะที่การเต้นรำมุ่ง
ความสำคัญไปที่การ “ดูเอารส”
อย่างไรก็ตามเราไม่อาจกล่าวสรุปได้ว่า
การเต้นรําของตะวันตกไม่สื่อสารเรื่องราว หรือแสดงเป็นละคร ทั้งนี้มีการเต้นรำบางประเภทที่มีการนําเสนออย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นเดียวกับละคร
คือ การแสดงบัลเล่ต์ (ballet) ที่มีลักษณะเป็นการเต้นเล่าเรื่อง
(Dance Story) ขณะที่ละครบางกลุ่มนิยมใช้การเต้นเป็นส่วนประกอบสําคัญเพื่อสร้างสุนทรียรสในการดําเนินเรื่องด้วยเช่นกัน
อาทิ ละครเพลง (Musical Theatre)
จะเห็นได้ว่าทั้งการเต้นรําและละครต่างมีองค์ประกอบร่วมกันอยู่
ได้แก่ การออกแบบฉาก แสง เสื้อผ้า การใช้ดนตรีหรือเพลง รวมถึงการแสดงนั่นเอง
ดังนั้นกล่าวโดยสรุปได้ว่าศิลปะการแสดงละครและการเต้นรำมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมีองค์ประกอบร่วมกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้เด็ดขาดเราจึงควรศึกษาการแสดงทั้งสองประเภทไปควบคู่กัน
ประเภทของศิลปะการแสดงตะวันตก
การเต้นรำ (Dance)
คือศิลปะที่แสดงโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่ใช้การเคลื่อนไหวเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอด
การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นท่าทางที่ประดิษฐ์ขึ้นให้มีรูปแบบและโครงสร้างที่ชัดเจน การเต้นรำจะแสดงประกอบดนตรีหรือเครื่องให้จังหวะ
แม่ว่าการเต้นรำจะถูกนำออกแสดงเพื่องานสังคม, พิธีกรรม, งานรื่นเริงสังสรรค์,หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดก็ตาม
การเต้นรำก็ยังมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกภายในออกมาในรูปแบบการเคลื่อนไหวที่งดงามในแง่ศิลปะการแสดง
ประเภทของการเต้นรำ
บัลเล่ต์ (Ballet) หรือระบำปลายเท้า คือการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ
ของร่างกายที่ใช้การถ่วงดุลน้ำหนัก และการสร้างรูปทรงของร่างกายให้งดงาม
โดยเคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรีบัลเล่ต์อาจแสดงเป็นเรื่องราว
หรือเป็นการแสดงชุดสั้นๆ ไม่เป็นเรื่องราว ก็ได้ หากแสดงเป็นเรื่องราว จะตัดบทสนทนาหรือบทพากย์ออกไป
ใช้ดนตรีประกอบแทน จึงมีลักษณะเป็นละครใบ้แบบเต้น (Dance Pantomime) ประเภทหนึ่ง ดนตรีจึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการแสดงที่จะแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ต่างๆ
ของเรื่อง เช่น อารมณ์เศร้า อารมณ์อ่อนหวาน อารมณ์รุนแรง ฯลฯ ดนตรียังทำหน้าที่ดำเนินเรื่องแทนการใช้บทสนทนาหรือบทพากย์ด้วย
เรื่องที่นำมาแสดงได้แก่ สวอนเลค (Swan Lake) เจ้าหญิงนิทรา
นัทแครกเกร์อ ฯลฯ
การแต่งกายในการแสดงบัลเล่ต์โดยทั่วไปนิยมใช้สีขาวหรือสีต่างๆ
หญิงสวมกระโปรงซ้อนฟูสั้นเรียกว่าทูทู (tutu) เสื้อไม่มีแขนรัดรูป
ชายสวมกางเกงรัดรูปเพื่อโชว์กล้ามเนื้อ การแต่งกายจะเน้นความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว
ปัจจุบันมีการปรับการแต่งกายให้มีความงดงามเหมาะกับเรื่องราวที่แสดง
แต่งยังคงเน้นการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วเช่นเดิม
การเต้นสมัยใหม่ หรือ
โมเดิร์นดานซ์ (Modern Dance) หรือ “การเต้นร่วมสมัย” (Contemporary
Dance) เป็นรูปแบบการเต้นที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ได้รับการพัฒนาจากนักเต้นสมัยใหม่ที่ต่อต้านรูปแบบการเต้นที่เคร่งครัดของบัลเล่ต์
การเต้นสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับการแสดงความรู้สึกนึกคิดของผู้แสดง โดยไม่คำนึงถึงท่าทางมาตรฐานของบัลเล่ต์
จึงเป็นการแสดงออกถึงความเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลได้อย่างชัดเจน
การเต้นลีลาศ (Social Dance) คือการเต้นรำเข้าจังหวะของชาวตะวันตกที่นิยมเต้นเป็นคู่
ปัจจุบันการเต้นลีลาศนับเป็นศิลปะสากลที่ทั่วโลกนิยมและยอมรับเข้าสู่ทุกวงการ
แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
ประเภทบอลล์รูม
(Ballroom) เป็นการลีลาศที่ใช้จังหวะนิ่มนวล
สง่างาม ลำตัวจะตั้งตรงเป็นส่วนใหญ่ การก้าวเท้า จะใช้การลากเท้าด้วยปลายเท้าไปกับพื้น
มี ๕ จังหวะ ได้แก่ วอลทซ์ (Waltz), แทงโก้ (Tango), สโลว์
(Slow), ควิกเสตป
(Quick Step), และ
ควิกวอลทซ์ (Quick
Waltz)
ประเภทลาตินอเมริกัน
(Latin American) เป็นการลีลาศจังหวะค่อนข้างเร็ว
เน้นความคล่องแคล่ว ส่วนใหญ่จะใช้ไหล่ เอว สะโพก เข่า และข้อเท้า
การก้าวเดินสามารถ ยกเท้าพ้นพื้นได้ มี ๑๒ จังหวะ ได้แก่ รุมบ้า (Rumba), บีกิน
(Beguine), ช่าช่าช่า
(Cha cha cha), กัวราช่า
(Guarracha), ร็อคแอนด์โรล
(Rock and roll), แซมบ้า
(Samba), แมมโบ้
(Mambo), ออฟบีท
(Off-beat), ตะลุงเทมโป้
(Taloong Tempo), ทวิสต์
(Twist), บาชังก้า
(Bachanga), และ โบเรโล่ (Borelo)
นอกจากนี้
การเต้นลีลาส ยังมีความหมายรวมไปถึงการเต้นรำจังหวะใหม่ๆ
ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง เช่น จังหวะอะโกโก้ จังหวะดิสโก้ เป็นต้น
ระบำประยุกต์ประกอบดนตรี (Musical Stage
Dance) เป็นการเต้นที่มีการผสมผสานการเต้นหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน
โดยส่วนใหญ่จะประยุกต์เอาลักษณะการเต้นของ แจสซ์, บัลเลต์, แท็ป และแม้แต่ ระบำชนเผ่า เข้าด้วยกัน การเต้นประเภทนี้พบได้ในละครเพลงบรอดเวย์
(Broadway) ซึ่งเน้นที่ความสดใส
ความตระการตา ท่าเต้นจะประดิษฐ์ขึ้นอย่างหรูหรา งดงาม
เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับคนดูในวงกว้าง
การเต้นนันทนาการ
(Recreation
Dance) คือการเต้นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามเทศกาลในโอกาสต่างๆ
ได้แก่ การเต้นรำพื้นเมือง (Folk Dance) ประจำท้องถิ่นของประเทศต่างๆ
ในยุโรป รวมถึง การเต้นแบบจตุรัส (Square Dance) และการเต้นแบบ
วงกลม (Round
Dance) ของอเมริกาด้วย การเต้นนันทนาการเป็นการเต้นง่ายๆ ใช้เพลงทำนองง่ายๆมีจังหวะที่ชัดเจน
บางครั้งใช้การตบมือแทนการให้จังหวะ
ระบำชนเผ่า (Ethnic Dance) คือการเต้นของชนเผ่าต่างๆ
ในยุโรป อเมริกา รวมถึง อาฟริกา
ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ
หรือประเพณีทางสังคม
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีข้อพึงสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างการเต้นนันทนาการและการเต้นของชนเผ่า คือการเต้นนันทนาการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเต้น
แต่การเต้นชนเผ่ามักจะเป็นรูปแบบของการแสดงต่อหน้าผู้ชม
การละคร
“ละคร” คือการแสดงที่ต้องมี
“เรื่องราว” ซึ่งได้เลียนแบบมาจากชีวิตของมนุษย์
มีการจัดแสดงต่อหน้าผู้ชมอันก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้แสดงและผู้ชม
ทั้งนี้การแสดงใดๆ ที่มีทั้งผู้แสดงและผู้ชม แต่มิได้แสดงเป็นเรื่องเป็นราว เช่น
การแสดงแฟชั่นโชว์ การแสดงดนตรี หรือการแสดงมายากล เหล่านี้
เราไม่เรียกว่าละครเพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญไปอย่างหนึ่งคือ “เรื่อง” นั่นเอง
ประเภทของละครตะวันตก
รูปแบบของละคร (Form) เป็นการศึกษาละครตามลักษณะเนื้อเรื่อง
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท คือ ละครแทรจิดี ละครคอเมดี
และละครเมโลดรามา
ละครแทรจิดี (Tragedy) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ละครโศกนาฏกรรม เป็นละครที่นำเสนอ เรื่องราวที่จริงจัง เศร้าโศก
และมักลงท้ายด้วยความทรมาน ขมขื่น น่าสงสาร ของตัวละครเอก ละครโศกนาฏกรรมเป็นละครที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าสูงส่ง
เนื่องจากเนื้อเรื่องจะแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานของมนุษย์ตัวเอก
ผู้มีลักษณะสูงส่งน่ายกย่อง แต่มีข้อบกพร่องในลักษณะนิสัยบางประการ
เป็นเหตุให้ต้องมาประสบกับเคราะห์กรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ยกตัวอย่างเช่นละครเรื่อง “อีดิปุส” (Oedipus) โศกนาฏกรรมสมัยกรีก
เป็นเรื่องราวของกษัตริย์อีดิปุสผู้ที่ชะตากรรมนำพาไปให้เขาต้องฆ่าบิดาของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
และด้วยความรู้สึกสำนึกในความผิดอันใหญ่หลวง เขาได้ตัดสินใจแทงดวงตาทั้งสองข้างและเนรเทศตัวเองออกจากเมืองเยี่ยงคนจรจัด
ซึ่งเป็นฉากที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง
ละครแนวแทรจิดี มุ่งก่อให้เกิดสภาวะ “ความบริสุทธิ์ทางใจ” แก่คนดูหลังจากได้ชมเรื่องราวการของตัวเอก
คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของละคร
อยู่ที่ตัวละครเอกต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงกับอำนาจชะตากรรมโดยไม่เคยอ่อนข้อให้แก่มัน
แต่ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด การได้ชมละครแทรจิดีและได้เห็นถึงชะตากรรมอันน่าอดสู
หรือความหายนะของตัวละครเอกที่เกิดจาก“การกระทำผิดบาป”
ของตัวละครเอง จะช่วยทำให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต
และเกิดแสงสว่างในการดำรงชีวิตนั่นเอง
ปัจจุบันละครแทรจิดีจะนำเสนอเรื่องราวปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญมากกว่าปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของคนชั้นสูงเช่นแทรจิดีในอดีต
นักการละครจำนวนมากจึงปฏิเสธที่จะเรียกละครเหล่านั้นว่าแทรจิดี เป็นเหตุให้เกิดการบัญญัติศัพท์สำหรับเรียกละครที่มีเนื้อหาเข้มข้นเกี่ยวกับชะตาชีวิตของคนโดยทั่วไปว่า
ละครดราม
(Drame) ในภาษาฝรั่งเศส
ส่วนในอเมริกาเรียกละครประเภทนี้ว่า ละครดรามา (Drama)
ละครคอเมดี (Comedy) หรือละครสุขนาฏกรรม
เป็นละครที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับละครแทรจิดี กล่าวคือ
ละครจะลงจบด้วยความสุขสมหวังของตัวละครเอก
เป็นละครที่มุ่งสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม
ไม่หนักและเครียดอย่างแทรจิดีนอกจากนี้ขณะที่แทรจิดีเชื่อว่ามนุษย์มีความความยิ่งใหญ่น่ายกย่อง
คอเมดีจะแสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ความผิดพลาดในการกระทำ
ข้อบกพร่อง ตลอดจนลักษณะที่น่าหัวเราะต่างๆ ในตัวคนเรา
เรื่องราวของละครคอเมดีมักจะผิดแผกไปจากความเป็น “ปรกติ” ทั้งตัวละคร และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ตัวละครที่ดูสง่างามน่าเกรงขามเดินเข้ามาในฉาก
จากนั้นลื่นสะดุดเปลือกกล้วยล้มลง เป็นต้น
ผู้ชมละครจะเกิดอารมณ์ขันจากการเห็นว่าตัวละครมีความด้อยกว่าตน
คอเมดีมีแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ
ตั้งแต่ละครตลกโปกฮาไปจนถึง คอเมดีชั้นสูงระดับวรรณกรรม
เส้นแบ่งระดับคอเมดีชั้นสูงกับละครตลกโปกฮา คือ การใช้ “ความคิด”
ละครแนวตลกโปกฮานั้น มักจะก่ออารมณ์ขันจากการใช้เรื่องราวเหตุการณ์อันเหลือเชื่อ
การแสดงที่ใช้ท่าทางพิสดาร เอะอะตึงตัง หรือรวดเร็วผิดปรกติ
ผู้ชมจะระเบิดเสียงหัวเราะทันทีที่ได้เห็นการแสดงนั้นๆ
โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดก็สามารถเกิดอารมณ์ขันได้ เช่น การแสดงตีหัวกัน
การวิ่งไล่จับกัน การแต่งผู้ชายเป็นผู้หญิง การแต่งหน้านักแสดงให้น่าเกลียดผิดปรกติ
เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามละครคอเมดีระดับวรรณกรรมนั้น
จะใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเรื่องราวให้สนุกสนาน
รวมถึงการเลือกใช้ภาษาที่ไพเราะคมคาย ไปจนกระทั่งการใช้ถ้อยคำเพื่อเสียดสี
นอกจากนี้คอเมดีบางประเภทยังอาจแฝงปรัชญาแนวคิดที่ลึกซึ้งอีกด้วย
คอเมดีขั้นสูงเหล่านี้จึงมักจะต้องการการใช้ “ความคิด”
จากผู้ชมก่อนจะเปล่งเสียงหัวเราะออกมา
ลักษณะละครคอเมดีสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภททั้งนี้จะยกตัวอย่างเพียงบางประเภทที่โดดเด่น ได้แก่
“ละครสุขนาฏกรรมโรแมนติค”
(Romantic
Comedy)
คือละครตลกระดับวรรณกรรม
ใช้ภาษาไพเราะ เรื่องราวเต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
มีความน่าเชื่อและสมเหตุสมผล ตัวเอกมีความดีงามตามแบบอุดมคติ
ละครแนวนี้ความตลกมักไปตกอยู่กับบทบาทของตัวละครตลก (Clown) ไม่ใช่ที่ตัวละครเอก
เรื่องราวมักเริ่มต้นที่ปัญหาและอุปสรรคแต่จบลงด้วยความสุข ส่วนใหญ่เป็นละครของ วิลเลี่ยม
เชกสเปียร์ ผู้โด่งดัง
“ละครตลกประเภทความคิด”
(Comedy
of Ideas)เป็นละครที่นำเอาความคิด
หรือความเชื่อของมนุษย์ที่ผิดพลาดมาล้อเลียน
เพื่อให้ผู้ชมได้นำกลับไปขบคิดหรือแก้ไข ละครประเภทนี้มีผู้ขนานนามว่าเป็นละคร “ตลกระดับสมอง”
“ละครตลกเสียดสี”
(Satiric
Comedy)
เป็นละครตลกที่เน้นการเสียดสีข้อบกพร่องของมนุษย์ในสังคมทั่วๆ ไป
ด้วยเรื่องราวและคำพูดของตัวละคร “งิ้วธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นละครตลกเสียดสีการเมืองก็จัดอยู่ในประเภทตลกเสียดสีด้วย
“ละครตลกสถานการณ์”
(Situation
Comedy)
ละครตลกที่มักใช้เรื่องราว ผิดฝาผิดตัว อลเวงอลวน เน้นที่ความบังเอิญ
และท่าทางตลกมากกว่าการใช้ภาษาสูง ชื่อละครแนวนี้ได้ถูกนำมาทำให้สั้นลงเพื่อใช้เรียกละครโทรทัศน์ที่จบในตอน
มีตัวละครกลุ่มเดียวกัน และเปลี่ยนสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ว่าละครแนว “ซิทคอม”
(Sitcom)
“ละครตลกเอะอะตึงตัง”
(Slapstick
Comedy) เป็นละครที่มุขตลกเน้นไปที่ความอึกทึกครึกโครม
วิ่งไล่จับกัน ตีหัวแตก ลื่นล้มหกคะเมนตีลังกา หากเป็นละคร หรือภาพยนตร์ของไทย
เทียบได้กับ ภาพยนตร์เรื่อง บ้านผีปอบ
ที่มุขตลกยอดนิยมของเรื่องคือการวิ่งหนีผีปอบลงไปซ่อนในตุ่ม ภาพยนตร์เรื่องบุญชู
เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการหาละครตลกที่มีลักษณะแบบใดแบบหนึ่งอย่างบริสุทธิ์โดยไม่มีลักษณะละครตลกแบบอื่น
หรือระดับอื่นมาเจือปนได้ ในการแบ่งละครคอเมดีออกเป็นหมวดหมู่จึงไม่อาจใช้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว
ผู้ศึกษาต้องมีความเข้าใจลักษณะของละครตลกโดยรวม และใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสิน
โดยดูลักษณะที่เด่นที่สุดของเรื่องเป็นสำคัญ
ละครเมโลดรามา (Melodrama) เป็นละครที่มีเรื่องราวโศกเศร้า
จริงจัง แต่มีฉากเบาสมองเพื่อผ่อนคลายความเครียดแทรกอยู่ และจบลงด้วยความสุข
หรือความสมหวัง แม้ว่าชื่อเรียกละคร เมโลดรามา จะเกิดขึ้นในช่วงหลังศตวรรษที่ ๑๙
แต่รูปแบบละครประเภทนี้มีมากว่า ๕๐๐ ปีก่อนศริสตกาลมาแล้ว (Oscar G.
Brockett, ๑๙๖๔)
บางยุคเรียกละครลักษณะนี้ว่า “ละครแทรจิคอเมดี”
(Tragicomedy) หรือละครโศกกึ่งสุข
เนื่องจากมีลักษณะจริงจังเศร้าโศกอย่างแทรจิดีและจบลงด้วยความสุขอย่างคอเมดี
ละครเมโลดรามาที่แท้จริง
เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมแพร่หลายในศตวรรษที่ ๑๙ เป็นละครที่มีดนตรีประกอบเพื่อแสดงลักษณะของอารมณ์ในแต่ละฉาก
ลักษณะของละครเมโลดรามาในยุคดังกล่าวนิยมนำเสนอตามสูตรที่วางไว้อย่างชัดเจน คือ
เร้าอารมณ์ผู้ชมเป็นสำคัญ กระตุ้นความรู้สึกสงสารและโกรธอย่างไม่ลึกซึ้งนัก
เรื่องราวมักดำเนินไปด้วยแผนการของฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอกซึ่งทำให้เหตุการณ์ยุ่งยากมากขึ้น
ซึ่งโครงเรื่องของละครเมโลดรามาเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย แสดงให้เห็นเหตุการณ์ที่ตัวเอกต้องเผชิญกับปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่า
เรื่องราวมีปมที่น่าสงสัย
ชวนให้ติดตามดูและตอนจบของเรื่องมักจะผันแปรเหตุการณ์ไปอย่างไม่น่าเป็นไปได้
ตัวละครเมโลดรามามีลักษณะตายตัว
(typed character) ไม่ค่อยมีพัฒนาการ
หากตัวละครมีการเปลี่ยนแปลงด้านนิสัย ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
ซึ่งมักเชื่อได้ยากถ้านำมาไตร่ตรองให้ดี ลักษณะตัวละครแบบเมโลดรามาที่พบได้ในแทบทุกเรื่อง
คือพระเอก นางเอก ตัวตลก และผู้ร้าย
หากเปรียบละครแนวเมโลดรามากับละครที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
คือ ละครโทรทัศน์แนว “น้ำเน่า”
นั่นเอง ซึ่งมักเน้นการกระตุ้นเร้าอารมณ์ผู้ชมให้รู้สึกสนุก
ตื่นเต้น สงสาร สะใจ ฯลฯ ไปตามเรื่องราวในละคร
ไม่ใส่ใจที่จะสร้าง “ความน่าเชื่อ” หรือความสมจริงให้กับละครมากนัก
ส่วนใหญ่จะวนเวียนใช้โครงเรื่องเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อตัวละครเท่านั้น ละครเมโลดรามาจะแตกต่างจากแทรจิดีที่
เหตุการณ์ที่เกิดกับตัวละครแม้จะเป็นชะตากรรมที่โหดร้ายและดูเป็นไปได้ยากเหมือนๆ
กัน แต่จะเน้นที่ ”การต่อสู้” กับชะตากรรมของตัวละคร
ในขณะที่เมโลดรามาเน้นที่ “ความผลิกผัน และความรันทด”
ของชะตากรรมนั้นๆ นอกจากนี้เมโลดรามาจะแบ่งความดีและความชั่วออกจากกันอย่างชัดเจน
ซึ่งอยู่ในรูปของตัวเอก และฝ่ายผู้ร้าย ขณะที่แทรจิดี ความดีและความชั่วจะอยู่ในตัวคนๆ
เดียว ลักษณะดังกล่าวนี้เองจึงทำให้คำว่า “เมโลดรามา”
มักถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีอยู่เสมอ
ละครที่ดีเป็นอย่างไร
“ละคร”
เป็นศิลปะที่มีความซับซ้อนยิ่งในเชิงโครงสร้าง
เป็นงานที่ยุ่งยากในแง่การจัดการเพราะเป็นศิลปะร่วม (Mixed Arts) ที่ผสมผสานเอาศิลปะหลากหลายแขนงมาประกอบเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่
ศิลปะการประพันธ์ (วรรณศิลป์),ศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์),
ศิลปะการออกแบบ (ทัศนศิลป์), และศิลปะดนตรี
(คีตศิลป์ หรือดุริยางคศิลป์) การสร้างละครให้มี “ศิลปะ”
จึงไม่ใช่แค่งมีความรู้หรือทักษะแห่งศิลป์ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
ผู้จัดต้องสามารถเข้าถึงศิลปะในหลายแขนง และสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างเหมาะเจาะ
นอกจากนี้ ละครยังเป็นงานที่ต้องอาศัยการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ
และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันของทีมงานหลายฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็น คนเขียนบท ผู้กำกับการแสดง นักแสดงผู้ออกแบบฉาก-แสง-เสื้อผ้า
นักดนตรี ฯลฯ ทำให้งานการจัดแสดงละครดูยุ่งยากและซับซ้อน
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญและยากยิ่งไปกว่าการจัดการ คือจะสร้างละครอย่างไรให้ลงตัวและ
“ถูกใจ” ผู้ชม
ละครมีหลักการสร้างอยู่
๒ ประการ คือ “เรื่อง” ที่เปรียบเสมือนหัวใจของละคร และ “รส” เปรียบได้กับร่างกายหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่หล่อหลอมรวมกันเป็นละคร
เรื่อง คือศิลปะแห่งการ “เล่าเรื่อง” ผ่านการแสดงและองค์ประกอบต่างๆบนเวที ดังนั้นหัวใจของละคร จึงเป็น “เรื่อง” ที่จะเล่า แม้ละครบางเรื่องมีการสร้างสรรค์
ฉาก-แสงได้สวยงาม เสื้อผ้าเหมาะสม มีบทเพลงไพเราะ แต่เรื่องที่นำมาเล่าไม่ประทับใจก็ไม่สามารถบอกได้ว่าละครเรื่องนั้น
“ดี” ได้ “เรื่อง” ที่ดี คือเรื่องที่ต้องสื่อ “สาร” (Theme) หรือแนวคิดหลัก (Thought) อย่างชัดเจน
สารเหล่านี้ออกมาจากละครได้เมื่อผู้ชมชมละครตั้งแต่ต้นจนจบ
ไม่ใช่ชมเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของเรื่อง ดังนั้นการเล่าเรื่องจึงต้องมีทิศทางที่ชัดเจน
ไม่สะเปะสะปะแตกประเด็นไปมา ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรระวังคือการเล่าเรื่องเพื่อเป็นการสื่อ
“สาร” ไม่ใช่การยัดเยียด แต่ต้องทำให้ “สาร” นั้นแทรกซึมอยู่ในเนื้อเรื่องอย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว
ตอบโจทย์ได้ในมุมกว้างไม่ใช่ในรายละเอียด ผู้ชมอาจไม่สนใจว่าผู้สร้างละครจะนำเสนออะไรบ้าง
แต่สนใจว่าผู้สร้างจะนำเสนอสาระนั้นๆ อย่างไร ให้น่าสนใจและน่าติดตามมากกว่า
เพื่อที่จะได้นำไปขบคิดต่อ และประยุกต์ใช้ได้ การละครไม่ใช่การปาฐกถา
หรือการบรรยายทางวิชาการ
ดังนั้นสิ่งที่นักทำละครควรให้ความสนใจมากที่สุดคือทำอย่างไรจึงจะย่อยเอาสาระยากๆ
มาถ่ายทอดให้คนดูเข้าใจได้โดยไม่ให้รู้สึกว่าถูกยัดเยียด หรือจงใจ
ในขณะเดียวกันการดำเนินเรื่อง
(ลำดับของการเล่าเรื่องที่ดำเนินไปตั้งแต่ต้นเรื่องจนกระทั่งจบเรื่อง) จะน่าสนใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับพล็อตเรื่อง
(Plot) ที่วางไว้ การวางพล็อตที่ดีต้องมีเหตุมีผลของเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ
จะทำให้คนดูคล้อยตามและต้องการที่จะดูเรื่องราวต่อไป ดังนั้นพล็อตเรื่องจึงต้องมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
เป็นพัฒนาการของการเล่า จากจุดเริ่มต้นของเรื่อง (Exposition)นำไปสู่จุดวิกฤต (Crisis) และดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุดของเรื่อง
(Climax) แล้วจึงค่อยๆ คลี่คลายลง (Falling down) จนถึงบทสรุปของเรื่องในตอนจบ (Conclusion) ซึ่งพัฒนาการนี้จัดเป็นสูตรสำเร็จที่นักการละครเชื่อกันว่าจะทำให้ละครดูน่าสนใจและสนุก
แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว เนื่องด้วยโดยส่วนใหญ่เรื่องที่ประสบความสำเร็จมักมีขั้นตอนดำเนินเรื่องอย่างนี้
สำคัญอีกประการหนึ่งการสร้างพล็อตเรื่องคือ การสร้างความขัดแย้ง หรือปมปัญหา (Conflict)
เพราะปมปัญหาจะก่อให้เกิด “การดำเนินเรื่อง”
หากไม่มีปมปัญหาเรื่องก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ปราศจากความน่าสนใจ สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ
สถานการณ์ทั้งหลายในเรื่องต้อง “น่าเชื่อ”
(Believable) และอยู่ภายใต้กฎของเหตุและผล (A law of cause
and effect) ละครหลายเรื่องที่เน้นความสนุกสนาน, ความตื่นเต้นน่าติดตาม, หรือความบังเอิญมากจนดูเป็นการจงใจให้เรื่องเป็นไป
จึงทำให้ละครดูด้อยคุณค่าไปโดยปริยาย
รส ใช้แทนความหมายขององค์ประกอบต่างๆ
ในละคร ที่สร้างอรรถรสให้กับผู้ชม “รส” ในที่นี้จึงหมายรวมถึง
การออกแบบฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ, การออกแบบเสื้อผ้า,
การเลือกใช้เพลง และเสียงประกอบที่เหมาะสม, การเข้าถึงบทบาทในการแสดง,
ความสมจริงสมจัง หรือความเหมาะสมในบทบาทการแสดง, การใช้เสียง, ความมีสมาธิของนักแสดง, ฯลฯ
องค์ประกอบในเรื่องของ
“รส” เป็นส่วนเติมเต็มทำให้ละครสมบูรณ์ หากสาระดี
บทละครดี แต่การนำเสนอจืดชืด
ก็สามารถบั่นทอนคุณภาพของละครให้ลดลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตามยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ
“รส” ของละคร
เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักคิดว่าละครที่ดีต้อง สร้าง ฉาก แสง และเสื้อผ้าให้ตระการตา
ยิ่งใหญ่ แต่ในเป็นความจริง ต้องคำนึงว่าละครที่นำเสนอมีรูปแบบเป็นอย่างไร
บางแนวเหมาะกับองค์ประกอบที่อลังการ แต่บางแนวกลับไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้เลย เช่น
ละครเพลง(Musical Drama) เป็นละครที่เหมาะกับการใช้ฉาก แสง
สี ที่สวยงามยิ่งใหญ่ ขณะที่ละครแนวสมจริง (Realistic Drama) ต้องการฉาก แสง ที่สมจริงสมจังพิถีพิถัน ซึ่งแตกต่างกับละครแนวทดลอง (Experimental
Drama) อาจไม่ต้องการใช้ฉาก แสง ใดๆ
แต่ให้ความสำคัญกับกลวิธีการนำเสนอที่แหวกแนว การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ (Symbols)
ในการสื่อสาร เป็นต้น บางครั้งการใช้ฉากที่น้อยนิดแต่สร้างสรรค์และสื่อความหมายได้ดี
ก็อาจทำให้ละครดีเทียบเท่ากับละครที่มีฉากที่ยิ่งใหญ่ตระการตาได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับเรื่องและวิธีการนำเสนอของผู้สร้างละคร
เรื่องของบทบาทการแสดง
นักแสดงควรมีความรู้ความเข้าใจในหลักของการแสดงที่ดี ต้องมีความเชื่อในสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า
หรืออาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าฉันเป็น…(ตัวละครตัวนั้น)
ฉันจะทำอย่างไร” นักแสดงควรทำความเข้าใจใน “ความเป็นตัวละคร” (Characterization) ทั้งกายภาพ
และจิตวิทยา เช่น ตัวละครมีอายุเท่าไหร่ เพศอะไร ประกอบอาชีพอะไร ฐานะทางสังคมเป็นอย่างไร
มีนิสัยอย่างไร เป็นต้น หากนักแสดงสามารถวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ
เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน การแสดงของเขาจะดูมีมิติและสมจริงสมจัง
นอกจากนี้นักแสดงยังต้องคำนึงถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ทางการแสดงอีกด้วย เช่น
การใช้เสียงพูด (Voice Projecting) ให้ดังฟังชัดและเหมาะสมกับตัวละคร,
การเคลื่อนไหวบนเวทีของตัวละคร (Blocking) ที่ดูเหมาะสมสวยงาม
ไม่สับสน, การมีสมาธิในการแสดง (Concentration) จดจ่ออยู่กับบทบาทตรงหน้า ไม่วอกแวก, และจังหวะในการแสดง
(Tempo) ที่เหมาะสม น่าติดตามไม่เร่งเกินไป
และไม่ยืดเกินไปเป็นต้น
ปัจจุบันการแสดงละครโทรทัศน์
ร้อยละ ๗๐ เป็นตัวอย่างของการแสดงที่ไม่สมบูรณ์นัก
เพราะเป็นการแสดงที่เน้นอารมณ์รุนแรงโดยปราศจากความเชื่อภายใน (Inner Realism) การพูดจาหรือการแสดงออกทางสีหน้าที่เกินจริง(Over-action) ในความเป็นจริงคนที่ร้ายกาจจริง มักแสดงออกอย่างนิ่งๆ ไม่เปิดเผยโจ่งแจ้งอย่างที่ตัวอิจฉาในละครมักทำกัน
ลองสังเกตดูว่าในชีวิตจริงเขาแสดงออกกันอย่างไร และจะเป็นตัวอย่างของการแสดงที่ดี
ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าละครห้ามแสดงสีหน้าที่เกินจริง
เพราะการแสดงละครบางประเภท เช่นละครตลก (Comedy) จำเป็นต้องแสดงเช่นนี้
ดังนั้นการแสดงละครจึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ควรเรียนรู้ฝึกฝนเป็นผู้มีความรู้ทางการแสดงเป็นอย่างดี
จะช่วยให้สร้างงานการแสดงได้งดงามเหมาะสม และให้คุณค่าแก่ผู้ชมได้ดี
การวิจารณ์ละครสามารถยึดแนวทางดังต่อไปนี้ได้
๑. บรรยากาศโดยรอบงาน
ก่อนการจัดแสดง เป็นอย่างไร
๒. เรื่องราว,
วิธีการนำเสนอ, รวมถึงรายละเอียดต่างๆ
ของละครที่ท่านได้ชมเป็นอย่างไร
๓. หลังจากชมละครเรื่องนี้
ท่านได้รับสาระ หรือข้อคิดอะไร
๔. ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ
นักแสดงในเรื่องนี้
๕. ท่านคิดว่า
ฉาก ,แสง และเสียง มีความเหมาะสมกับเรื่องราวของเรื่องนี้หรือไม่
อย่างไร
๖. ท่านคิดว่า
เสื้อผ้า การแต่งหน้าหน้า และการทำผม มีความเหมาะสมกับเนื้อหาของเรื่อง
หรือไม่
อย่างไร
๗. ท่านชอบ
และไม่ชอบสิ่งใดมากที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้
๘. ท่านคิดว่าในละครเรื่องนี้
มีสิ่งใดต้องแก้ไขปรับปรุง
ข้อเปรียบเทียบงานละครที่ดีและไม่ดี
ลักษณะของละคร
|
ดี
|
ไม่ดี
|
หมายเหตุ
|
เรื่อง
-สาร
หรือแนวคิด
|
-แทรกอยู่ในเนื้อเรื่องอย่างแยบยล
-มีประเด็นที่เป็นเอกภาพชัดเจน
|
-ยัดเยียดผ่านคำพูดของตัวละคร
|
สาร คือสิ่งที่สรุปได้
จากละครทั้งเรื่อง
|
-การลำดับเรื่อง
|
-มีประเด็นปัญหา (conflict) และการวางโครงเรื่องให้เข้มข้นน่าติดตาม
-น่าเชื่อ และอยู่ภายใต้กฎของเหตุและผล
|
-นำเสนอเรื่อยๆ ไม่น่าติดตาม หรือวกวน หรือไม่เคลื่อนไปข้างหน้า
-ไม่น่าเชื่อ เต็มไปด้วยความบังเอิญหรือจงใจให้เป็น
|
เรียกว่า
โครงเรื่อง
(plot)
มักจะเริ่มต้น
จากการปูพื้น
สู
วิกฤติ
ถึงจุดสูงสุด
และลงจบในที่สุด
|
รส
-การออกแบบ ฉาก,อุปกรณ์ประกอบฉาก,เสื้อผ้า, เพลงและเสียงประกอบ
-
การแสดง
|
-องค์ประกอบด้านการออกแบบจะต้องเข้ากับแนวการนำเสนอเรื่อง ,เหมาะสม
-
สมจริง / น่าเชื่อ / เข้าใจในตัวละครและสถานการณ์ของตัวละคร
-
มีสมาธิ / มีการใช้เสียงที่เหมาะสม/จังหวะและการเคลื่อนไหวของตัว
ละครเหมาะสม
|
ไม่มีแนวทางในการออกแบบที่ชัดเจน
ให้ความสำคัญผิดจุด เช่น
เน้นที่ความหรูหรา
หรือรูปแบบบางอย่างโดยไม่ได้คำนึงถึงความเข้ากันหรือเอกภาพ
-
ขาดความจริงภายในของตัวละคร
-
แสดงใหญ่เกินจริง หรือโอเว่อร์แอ็กติ้ง
|
รส
หมายถึง
องค์ประกอบส่วน
ต่างๆ
ของการจัด
แสดงละคร
ส่วน
ใหญ่จะหมายถึง
ความเหมาะสม
และความน่าเชื่อ
|
แนวทางในการพิจารณาว่าละครที่ดีเป็นอย่างไร
อาจช่วยให้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อการเข้าถึงสุนทรียภาพของศิลปะการแสดงได้
อย่างไรก็ตามขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า หลักเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียง “พาหะ”
เพื่อนำไปสู่การชมละครให้สนุกแต่ต้องไม่ใช่ “ภาระ”
ที่จะทำให้เป็นกังวล
หรือคอยจับผิดว่าละครเรื่องใดที่ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีเหล่านี้เป็นละครที่ไม่ดีเสมอไป
เพราะถึงอย่างไรการพิจารณาละครสักเรื่องยังต้องอาศัยบริบทและปัจจัยประกอบอีกมากมาย
แต่ที่สุดแล้วเคล็ดลับที่สำคัญอย่างแท้จริงในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการละครก็คือ
“การชมละคร” ให้มากที่สุดนั่นเอง
สรุป
ศิลปะการแสดงตะวันตกเป็นศิลปะการแสดงที่มีการนำเสนอ ๒ ประเภท
เช่นดียวกับศิลปะการแสดงโดยทั่วไป คือ เป็นเรื่องราวและไม่เป็นเรื่องราว
ขณะเดียวกันศิลปะการแสดงของตะวันตกโดยส่วนใหญ่มักมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดรูปแบบการแสดงที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการละคร
หรือการเต้น
การศึกษาศิลปะการแสดงละครของตะวันตก
ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงวิธีการนำเสนอเนื้อหาเรื่องราว ที่มีลักษณะการนำเสนอที่แตกต่างกันไป
ทำให้เกิดการแสดงละครหลายลักษณะ แต่จุดประสงค์ที่ละครตะวันตกนำเสนอคือ
สาระและแง่คิดที่ใช้วิธีการนำเสนอต่างกันไป
การที่ผู้ชมจะได้สาระจากการชมการแสดงในรูปแบบละครตะวัน
และได้สาระแง่คิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้าวิธีการนำเสนอเรื่องราวตลอดจนรูปแบบการนำเสนอ
แม้จะมีการนำเสนอที่แตกต่างกันไปแต่สิ่งที่เป็นคุณค่าต่อผู้ชมศิลปะการแสดงตะวันตกก็ไม่ต่างจากคุณค่าจากการชมศิลปะการแสดงของไทยและประเทศในแถบเอเชียเช่นเดียวกัน
หมายเหตุ กรุณาอ่านโดยไม่มีภาพประกอบไปก่อนลงภาพไม่ทัน ดูภาพประกอบและเนื้อหาสรุปได้จากสไลด์ประกอบการสอนนะคะ (เหนื่อยแล้วทำงานไม่ทันขอโทษด้วย) ดาวน์โหลดสไลด์ได้ตามลิ้งค์ข้างล่าง และเข้าไปทำกิจกรรม๒ ได้ตามลิ้งค์ถัดไปนะคะ
PowerPoint https://drive.google.com/drive/my-drive
ดูกิจกรรมที่สองไม่ได้ค่ะ เนื้อหาละเอียดมาก ชอบค่ะ
ตอบลบ